เลือกตั้ง 2566 ถ่ายรูปได้ไหม ถ่ายรูป ถ่ายภาพอย่างไร ไม่ผิดกฎหมาย

11 พ.ค. 2566 | 06:14 น.

เลือกตั้ง 2566 ถ่ายรูป ถ่ายภาพ ได้ไหม ตรวจสอบให้มั่นใจว่า จุดไหน เมื่อไหร่ ในบริเวณพื้นที่เลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง ที่สามารถทำได้บ้าง และบริเวณใด ที่ห้ามถ่ายรูป ถ่่ายภาพ บันทึกวีดีโอโดยเด็ดขาด

เลือกตั้ง 2566 พร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เตือนประชาชน ไม่ให้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหลายประการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 

ถ่ายรูป ถ่ายภาพ ในจุดเลือกตั้ง ถือเป็นสิ่งที่มีความละเอียดอ่อน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งก็อาจจะอยากบันทึกภาพความทรงจำ ว่าครั้งหนึ่งได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือ อยากบันทึกภาพการนับคะแนน เพื่อช่วยจับตาการเลือกตั้ง ในขณะที่การถ่ายภาพในวันเลือกตั้งนั้น มีข้อห้ามตามกฎหมายอยู่ด้วย ฐานเศรษฐกิจ จึงกางกฎหมาย เพื่อความชัดเจนเรื่องการถ่ายรูป ถ่ายภาพในวันเลือกตั้ง

กางกฎหมาย ห้ามถ่ายรูป ถ่ายภาพ ในวันเลือกตั้ง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 97 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตน ได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว ซึ่งผู้ฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 97

ทั้งนี้ การถ่ายรูป ถ่ายภาพ บันทึกวีดีโอหน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือ ขณะนับคะแนนเลือกตั้งหลังปิดหีบ โดยไม่เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ สามารถกระทำได้ โดย แสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เคยเปิดเผยถึงหลักความโปร่งใสของการจัดการเลือกตั้ง 2566 ว่า ทุกคนสามารถร่วมกันถ่ายรูปหรือวิดีโอการนับคะแนนหรือกระดานรวมผลคะแนนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่ไม่รบกวนการทำงานของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และไม่ถ่ายรูปบัตรลงคะแนนที่ทำเครื่องหมายแล้ว เนื่องจากปลดล็อกออกจากระเบียบไปแล้ว

ด้านกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. ได้ยืนยันอีกด้วยว่า ระเบียบเดิมอาจห้ามมีการบันทึกภาพหรือวิดีโอการจัดการเลือกตั้ง แต่ระเบียบใหม่ไม่มีข้อห้ามนี้อีกต่อไป ประชาชนและผู้สังเกตการณ์ทุกคนจึงสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่ไม่ถ่ายบัตรเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายแล้ว เพื่อรักษาหลักการที่ว่า การลงคะแนนของประชาชนแต่ละคนต้องถูกเก็บไว้เป็นความลับ

พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า หากเห็นการนับคะแนน การขานคะแนน การขีดคะแนน หรือการรวมคะแนนที่ผิดพลาด สามารถมีส่วนร่วมแก้ไขได้โดยการทักท้วงทันที เพื่อรักษาความถูกต้องของผลการเลือกตั้ง โดย เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ต้องบันทึกคำทักท้วง และการวินิจฉัยลงไปในบันทึกเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง หรือ ใบ ส.ส.5/6  พร้อมลงชื่อผู้ทักท้วง ลงชื่อ กปน. ไม่น้อยกว่า 5 คน และลงชื่อพยานอีกอย่างน้อย 2 คน 

หากไม่มีบุคคลเป็นพยาน ต้องเขียนเป็นหมายเหตุไว้ในใบดังกล่าวด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อให้การทักท้วงทุกอย่างมีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจริง และสามารถนำไปใช้ยืนยันในกระบวนการทางกฎหมายภายหลัง

ที่มา กกต. , iLAW