ประชาธิปัตย์ ชู เหมืองโปแตช แก้ "ปุ๋ยแพง" หนุนเกษตรกร สู่ผู้ประกอบการ

02 พ.ค. 2566 | 09:58 น.

ประชาธิปัตย์ ดีเบต นโยบายเกษตร "ปุ๋ยแพง" แก้อย่างไร? ชูผลักดันเหมืองแร่โปแตช ถึงเวลาไทย มีแม่ปุ๋ยเป็นของตัวเอง ชี้รัฐไม่ลงขัน ก็ปล่อยเอกชนร่วมลงทุน พร้อมเตรียมสานต่อนโยบาย "เกษตรแปลงใหญ่" หนุนเครื่องมือ องค์ความรู้ เปลี่ยนผ่านเกษตรกร สู่ผู้ประกอบการ แก้หนี้

2 พฤษภาคม 2566 - ในเวที ดีเบต นโยบายพรรคกับการแก้ปัญหาต้นทุนการผลิต - ปุ๋ยแพง THE BIG ISSUE 2023 : ปุ๋ยแพง วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" และเครือเนชั่น 

นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ "เกษตรฐานราก เกษตรฐานโลก" ของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องยอมรับว่า ปัญหาของเกษตรกรไทย วันนี้ หลัก ๆ มาจากภาวะผันผวน ของปัจจัยการผลิต เช่น ราคาปุ๋ย และ ราคาพืชผลทางเกษตร ซึ่งยากต่อการควบคุม จนนำมาซึ่งนโยบายประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง และ ค่าบริหารจัดการ ที่พรรคใช้ดูแลพี่น้องเกษตรกรมายาวนาน ซึ่งจะยกระดับให้มากยิ่งขึ้น หากได้รับโอกาสได้เข้าไปเป็นรัฐบาล 

สำหรับ เรื่องปุ๋ย ในสังคม ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มาก โดยเฉพาะ ขณะนี้ ที่มีปัญหาราคาแพง ประเด็นนี้ พรรคประชาธิปัตย์ อยากให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน เกษตรกรใช้ปุ๋ยหลัก ๆ จาก 2 แหล่ง  คือ ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ จากธรรมชาติ อีกส่วน คือ ปุ๋ยเคมี ซึ่งราคาที่ขึ้น - ลง กำหนดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับกลไกของตลาดในช่วงเวลาต่าง ๆ 

ในแนวทางแก้ไขนั้น "การใช้ถูกปุ๋ย ถูกเวลา และ ถูกวิธี" เป็นเรื่องสำคัญ โดย ปุ๋ยเคมี มีข้อดี ปล่อยธาตุอาหารได้เร็ว แต่แพง ขณะที่ ปุ๋ยอินทรีย์ - ชีวภาพ อุ้มน้ำดี รักษาคุณภาพดิน แต่ปล่อยธาตุอาหารได้ช้า 

เมื่อเป็นเช่นนี้ เกษตรกร อาจต้องเรียนรู้ การใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสานให้ถูกต้องเสียก่อน หยิบยกองค์ความรู้ในการเลือกใช้ ปุ๋ยแต่ละชนิด ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อเป้าหมาย เร่งใบ เร่งต้น เร่งผลผลิต ที่ต่างกัน นี่เป็นแนวทางเบื้องต้นที่เริ่มได้ทันที 

"ปุ๋ยแพง กำหนดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด เมื่อก่อนราคาถูก แต่สงคราม ทำให้มีราคาแพง โดยการใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตร ปริมาณ วิธี และ เวลา จะเป็น 1 ในปัจจัยที่จะช่วยได้"

ประชาธิปัตย์ ชู เหมืองโปแตช แก้ \"ปุ๋ยแพง\" หนุนเกษตรกร สู่ผู้ประกอบการ
 

ขณะเดียวกัน พรรคสนับสนุน "เหมืองแร่โปแตชอาเซียน" เพื่อผลักดัน ให้ไทยมีแม่ปุ๋ยเป็นของตัวเอง โดยขณะนี้ ขาดเพียงอย่างเดียว เรื่องเงินทุน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่เช่นกัน ถ้าไม่ต้องการลงเงิน จากที่กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นอยู่แล้ว ก็ควรเปิดโอกาสให้เอกชน เข้ามาร่วมลงทุน ถือหุ้นแทน เหมืองแร่โปแตช ถึงจะเกิดขึ้นได้ 

"วันนี้ ราคาปุ๋ยแพง หรือ ไม่แพง ขึ้นกับสถานการณ์ แต่วันข้างหน้า เราทำให้ราคาถูกลงได้ ด้วยการเกิดขึ้นของเหมืองโปแตช ใช้โปแตชต่อรอง เจรจากับอาเซียนได้ ขึ้นอยู่กับจริงใจของผู้นำประเทศ " 

ประชาธิปัตย์ ชู เหมืองโปแตช แก้ \"ปุ๋ยแพง\" หนุนเกษตรกร สู่ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ยังเสนอ การกระจาย ศูนย์บริหารดินปุ๋ยชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น เพื่อให้ทุกเทศบาล อบต. และ สหกรณ์ มีเครื่องผสมปุ๋ยใช้เป็นของตัวเอง และ อยากต่อยอด ผลักดันให้ เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ เป็นพ่อค้าได้ ซึ่งพรรคจะสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง สานต่อจากผลงานก่อนหน้า นโยบายรัฐ “เกษตรแปลงใหญ่”โดยวันข้างหน้า จะดึง และจัดตั้งคนที่มีความรู้ เพื่อเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้เรื่องการลงทุนดังกล่าว ให้กับเกษตรกร เพื่อปลดหนี้ สร้างงาน และ มิติใหม่ให้กับเกษตรกรไทย 

โดยในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พรรคดูแลอยู่นั้น เราได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ดูแลดิน - ปุ๋ยชุมชน ไปแล้วทั้งสิ้น 349 แห่ง และจะขยายเพิ่มภายในปีนี้อีก 299 แห่ง เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร มีเครื่องไม้เครื่องมือ ผสมปุ๋ยเองได้ ขณะ กรมพัฒนาที่ดิน ยังช่วยทำหน้าที่ ออกตรวจสภาพดิน เพื่อเลือกใช้ปุ๋ยให้ถูกตัว โดยที่ผ่านมา การทำเช่นนี้ ทำให้เกษตรกรประหยัดค่าปุ๋ยไปได้ 20-30%