“สนั่น”คาดไม่มี "แลนด์สไลด์" 10 ประเด็นที่เอกชนอยากได้หลังเลือกตั้ง

25 มี.ค. 2566 | 05:22 น.

หลังได้รับเสียงสนับสนุนจากกรรมการ และสมาชิกเป็นเอกฉันท์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยต่ออีกเป็นสมัยที่ 2 (วาระปี 2566-2567) นายสนั่น อังอุบลกุล ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึง กิจกรรมแรกเพื่อตอบรับกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

โดยหอการค้าไทย จะจัดเวทีเสวนา “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” ในวันที่ 30 มีนาคม 2566 มี รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจะเป็นเวทีที่เหล่าผู้นำภาคธุรกิจเอกชน จะได้มาสะท้อนความต้องการและสิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นใน 10 ประเด็นสำคัญ

ประกอบด้วย การส่งเสริมภาคธุรกิจเกษตร อาหาร และ BCG & ESG , Digital Transformation และการศึกษาไทย, การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ, การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาแรงงานไทย, การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ, การส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค, โอกาสของไทยด้านการค้าข้ามแดนและชายแดน, การสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และข้อเสนอจากตัวแทนนักศึกษา

ประเด็นทั้งหมด ผู้นำ 10 พรรคการเมืองที่เชิญมา จะได้รับฟังจากตัวแทนหอการค้าฯ ในกลุ่มต่าง ๆ ที่จะมานำเสนอมุมมองความเห็นต่อทิศทางที่อยากให้เป็นไป ก่อนที่จะให้แกนนำพรรคการเมืองขึ้นกล่าวแสดงมุมมองความเห็นว่าพรรคการเมืองเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนอย่างไร มีอะไรที่ไม่เห็นด้วยเพราะเหตุใด ภายหลังจากการจบเวทีเสวนา หอการค้าไทยจะมีการสรุปมาตรการและนโยบายสำคัญ ๆ เป็นสมุดปกขาวมอบแก่ทุกพรรคการเมืองที่เข้าร่วมงาน เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำมาตรการและนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนต่อไป

สนั่น  อังอุบลกุล ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยสมัยที่ 2

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการสื่อสารสองทาง โดยผู้นำภาคธุรกิจจะพูดสะท้อนความต้องการและสิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปในแนวไหน หลังจากที่เราคุยเสร็จก็จะเชิญนักการเมือง 10 พรรคขึ้นเวทีพูดคนละ 10 นาที ถึงประเด็นที่เราได้พูดไปและเขามีอะไรที่จะขับเคลื่อน โดยที่จะให้เขาจับฉลากกัน คือจะมี 10 คำถาม พรรคหนึ่งก็หยิบมา 1 คำถาม แล้วก็ให้ตอบคำถามนั้น ซึ่งจะมี 2 รอบคำถาม”

นายสนั่น ยังให้ความเห็นหลังมีการยุบสภา นำสู่การเลือกตั้งที่มีไทม์ไลน์ชัดเจนว่า เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะมีความชัดเจนสำหรับแต่ละพรรคการเมืองในการวางแผนรับเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างความชัดเจนให้ภาคเอกชนในการวางแผนธุรกิจ ซึ่งจากที่ตนได้พูดคุยกับต่างชาติ เช่นนักลงทุนญี่ปุ่น ก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกอย่างมีความชัดเจน และเขาก็ยังมีความเชื่อมั่นที่จะขยายการลงทุนในไทย

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนตัวมองว่าคงไม่มีพรรคใดชนะการเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” แต่ที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงคือ การที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาจะใช้เวลามากเกินไปหรือไม่ หากใช้เวลามากเกินไปก็กลายเป็นว่า รัฐบาลรักษาการนานเกินไปก็จะเสียหายกับประเทศชาติ คือ 1. เรื่องงบประมาณใช้ไม่ทัน 2.การจะไปทำสัญญา หรือจะเจรจากับประเทศอื่นก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลรักษาการทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ทำให้เกิดสุญญากาศ

“ช่วงนี้เศรษฐกิจมันก็มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะแยะไปหมด ฉะนั้นต้องมีรัฐบาลในการที่จะออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจหรือมาตรการจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร พวกนี้ออกไม่ได้หมดเลย จะติดขัดหมด ดังนั้นพอเลือกตั้งเสร็จสิ่งแรกที่ต้องพยายามคือ จัดตั้งรัฐบาลให้ได้ และรัฐบาลที่จะจั้ดตั้งขึ้นมาต้องบริหารประเทศได้ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวขึ้นมาก็ทะเลาะกัน เกิดสภาล่มอะไรอย่างนี้ที่เราเป็นห่วง”

สำหรับคาดการณ์เม็ดเงินสะพัดในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเราประเมินว่าระหว่างช่วงนี้ไปถึงการเลือกตั้ง คงจะมีเงินสะพัดทั้งจากทางตรง ทางอ้อมน่าจะหมุนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจประมาณ 80,000 ล้านบาท จะส่งผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนและธรุกิจเอสเอ็มอีจะได้รับเงินส่วนนี้ เช่น สิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา แจกใบปลิว รถแห่ กลุ่มค้าส่ง ค้าปลีก ภัตตาคาร น้ำมันปิโตรเลียม และอื่น ๆ รวมแล้วประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และหากรวมกับเงินที่จะสะพัดในช่วงเลือกตั้งท้องถิ่นอีก 3 หมื่นล้านบาท เป็น 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะผลักดันให้จีดีพีเพิ่มขึ้นจากเดิมได้อีก 0.3%

อย่างไรก็ดีล่าสุดสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผู้ประกอบการภาคธุรกิจ 600 ตัวอย่างทั่วประเทศคาดจะมีเงินสะพัดในทุกเขตการเลือกตั้งก่อนจะมีการเลือกตั้ง รวมแล้วอย่างน้อย 1-1.2 แสนล้านบาท กระตุ้น GDP ปีนี้ได้ราว 0.5-0.7%

“เงินที่จะสะพัดก่อนการเลือกตั้งนี้ จะส่งผลดี เพราะประชาชนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้ประโยชน์  พอมีเงินก็จะเกิดการจับจ่าย ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะที่เวลานี้นักท่องเที่ยวต่างชาติก้เข้ามาเที่ยวไทยคึกคักมากขึ้น นักท่องเที่ยวจีน ยุโรป พักโรงแรม  3 ดาว 4 ดาว 5 ดาว พอวางกระเป๋าก็ออกช้อปปิ้ง ไปกินข้าวตามร้านอาหาร ภัตตาคาร ตามสตรีทฟู้ด  ซึ่งเท่าที่ผมสอบถามผู้นำหอการค้า 5 ภาค ทุกคนก็บอกว่าช่วงนี้เศรษฐกิจแต่ละภาคดีขึ้น ด้านการท่องเที่ยวอันนี้แน่นอน”นายสนั่น กล่าว

เมื่อถามถึงปัญหาที่อยากให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ได้เร่งแก้ไขเป็นอันดับต้น ๆ มีอะไรบ้าง นายสนั่นตอบว่า คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลายโครงการที่ไทยยังต้องเดินหน้าทำต่อเนื่อง และให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ยังไม่ค่อยเห็นพรรคการเมืองใดพูดถึง อย่างเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะให้มีความยั่งยืน เช่น เศรษฐกิจ BCG (Bio-เศรษฐกิจชีวภาพ,Circular-เศรษฐกิจหมุนเวียน, Green-เศรษฐกิจสีเขียว) ที่เป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงเรื่องการดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC จะทำต่ออย่างไรบ้าง

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยประกาศหากได้เป็นรัฐบาลจะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 5% มองว่ามีความท้าทาย และเป็นไปได้หรือไม่ เรื่องนี้ เป็นไปได้ ซึ่งหากไทยจะหนีกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เศรษฐกิจหรือจีดีพีจะต้องโตไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี ซึ่งไทยยังไม่เคยได้นานแล้ว ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงมากมายในเวลานี้ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก