แรงงานขาด 5 แสนคน “ดิจิทัล”มนุษย์ทองคำ แย่งตัวมากสุด

13 มี.ค. 2566 | 06:45 น.

สภาอุตฯลุยยกเครื่องภาคการผลิตไทยครั้งใหญ่ ใช้ออโตเมชั่นแทนแรงงานคน เตรียมจับมือรัฐ-สถาบันการเงิน ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 45 กลุ่มอุตฯ ระบุผู้จบด้าน "ดิจิทัล" ถูกแย่งตัวมากสุดในยุคนี้ หอการค้าไทย เผยภาคผลิต-บริการยังขาดแรงงาน 3-5 แสนคน แนะทำเอ็มโอยูศรีลังกา-บังกลาเทศ”

 ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและภาคบริการ ยังเป็นอีกปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการ หลังสถานการณ์โควิดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวกลับประเทศจำนวนมาก รวมถึงแรงงานไทยส่วนหนึ่งได้กลับภูมิลำเนา หรือเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งจากสถิติพบมีแรงงานออกจากระบบประกันสังคมแล้วกว่า 50,000 คน

อย่างไรก็ดีแม้หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายสามารถขึ้นทะเบียนแรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 โดยให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อผ่านระบบออนไลน์ เพื่อต่ออายุใบอนุญาตการทำงานได้อีก 2 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

  • ยกเครื่องใหญ่ภาคผลิตใช้ออโตเมชั่น

 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังเป็นปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น แปรรูปอาหาร อาหารทะเลแช่แข็ง สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น นับวันปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เสน่ห์ในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากให้มาลงทุนในไทยเริ่มหดหาย ขณะที่แรงงานไทยก็ไม่ค่อยทำงานประเภทนี้แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต้องย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ดี ไทยต้องเร่งปัญหาขาดแคลนแรงงาน เฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีทักษะฝีมือ เพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ไทยให้การส่งเสริม เช่น อุตสาหกรรม New S-Curve อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีทั้งหลายที่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูง และต้องใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ หรือโรบอติกส์ (หุ่นยนต์) มาใช้ทดแทนแรงงานขั้นพื้นฐานมากขึ้น

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 “ในปีนี้ทางส.อ.ท.ได้มีความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องออโตเมชั่นต่าง ๆ รวมทั้ง IOT มาช่วยในการทรานส์ฟอร์มกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เหลือใน 45 กลุ่มสมาชิกของ ส.อ.ท.โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ใช้ออโตเมชั่นแบบคนไทยที่ลงทุนไม่มาก มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับการผลิต ช่วยลดต้นทุน และลดของเสียให้น้อยลง”

 ขณะเดียวในปีนี้ ส.อ.ท.มีโครงการจะร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐ และสถาบันการเงินของภาครัฐบางแห่งในการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับมาใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในการผลิตให้มากขึ้น เป้าหมายเพื่อทรานส์ฟอร์มภาคการผลิตอุตสาหกรรมทั้งระบบควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะของแรงงานให้มีทักษะที่สูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ โดยเวลานี้ผู้ที่จบและมีทักษะพิเศษ "ด้านดิจิทัล" เช่น การเขียนแพลตฟอร์ม ด้านการโค้ดดิ้ง ถือเป็น “มนุษย์ทองคำ” สำหรับยุคนี้เลยก็ว่าได้

  • แรงงานยังขาด 5 แสนคน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมเวลานี้ภาคผลิตและภาคบริการยังขาดแคลนแรงงานอีกประมาณ 3-5 แสนคน ซึ่งทางออกการได้มาซึ่งแรงงานที่รวดเร็วคือการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้อง หรือเข้าเมืองผิดกฎหมายที่เข้ามาทำงานในไทย ให้มาขึ้นทะบียนให้ถูกต้อง คาดจะช่วยเพิ่มแรงงานที่ซ่อนอยู่ใต้ดินในส่วนนี้ได้ทันทีไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน

อีกส่วนหนึ่งรัฐบาลคงต้องไปทำเอ็มโอยู เพื่อนำเข้าแรงงานเพิ่มจากประเทศที่ไทยยังไม่มีเอ็มโอยู เช่น ศรีลังกา บังกลาเทศ ที่มีแรงงานจำนวนมาก นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีเอ็มโอยูแล้วกับเมียนมา กัมพูชา และลาว และขอให้พิจารณาลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้ถูกลงเหมาะสมกับกับสภาพปัจจุบัน เพื่อไม่ให้นายจ้างและลูกจ้างแบกรับภาระมากเกินไป

สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 “โดยรวมแต่ละเซ็คเตอร์คิดว่ายังมีความต้องการแรงงานได้อีกประมาณ 3-5 แสนคน โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว เวลานี้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานมาก การแก้ไขปัญหาคือ 1.คงต้องให้แรงงานต่างชาติที่อยู่ในไทยแล้วแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่มีอยู่หลายแสนคนจะทำอย่างไรให้เขาสามารถที่จะมาลงทะเบียนได้ทั้งหมด ซึ่งอาจต้องให้เวลาเขาซักหน่อย เพื่อที่นายจ้างกับลูกจ้างได้มาเจอกัน และต้องให้ขึ้นทะเบียนให้เร็วที่สุด ตรงนี้จะช่วยได้เร็ว และเรื่องที่ 2.คงต้องไปทำเอ็มโอยูกับประเทศที่ไทยยังไม่มีเอ็มโอยูเช่น ศรีลังกา บังกลาเทศ โดยอาจจะขยายสายอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันที่เรามีความต้องการให้เขามาช่วยทำงาน”

  • อาหารสัตว์เลี้ยงต้องการคนเพิ่ม

 ด้าน นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมทูน่าและอาหารสัตว์เลี้ยง ณ ปัจจุบันมีแรงงานในระบบ 4-5 หมื่นคน สัดส่วน ประมาณ 90% เป็นแรงงานต่างด้าว และ 10% เป็นแรงงานไทย เวลานี้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายโรงมีการลงทุนใหม่ หรือขยายไลน์ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติมในโรงงานแปรรูปทูน่า

ชนินทร์  ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย

 “โรงงานทูน่าและอาหารสัตว์เลี้ยงภาพรวมแรงงานขาดไม่มาก แต่ก็ต้องการคนเพิ่ม จากได้มีการเตรียมการก่อนหน้านี้ หลังจากกระทรวงแรงงานได้เปิดให้นายจ้างรับรองและขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้อง สามารถขึ้นทะเบียนทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้อีก 2 ปี ส่วนใหญ่ก็ได้ดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว แต่ที่ขาดแคลนแรงงานในเวลานี้อยู่ในภาคท่องเที่ยวและบริการ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ทำเรื่องข้างต้น จากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบโควิด นักท่องเที่ยวหาย พนักงาน/คนงานหันไปทำอาชีพอื่น พอท่องเที่ยวและบริการฟื้นก็ขาดเงินทุนในการจ้างงาน อีกทั้งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าลูกค้าจะกลับมามากน้อยเพียงใด”

  • รง.ไก่ปัญหาเริ่มคลี่คลาย

 ขณะที่ นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โรงงานแปรรูปไก่ขาดแคลนแรงงานมากกว่า 1 หมื่นคน แต่เวลานี้ปัญหาได้คลี่คลายลงมาก หลังจากรัฐบาลได้เปิดให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 รวมถึงผู้ประกอบการได้หันไปใช้เครื่องจักรในขั้นตอนที่สามารถทดแทนแรงงานคนได้มากขึ้น เช่น เครื่องล้วงเครื่องในไก่ และการตัดแต่งในบางสเปกสินค้า

 “เวลานี้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในโรงงานแปรรูปไก่คลี่คลายลงมากแล้ว เพราะได้แรงงานต่างด้าวชุดใหม่มาเสริม แต่ที่ยังขาดแคลนแรงงานส่วนใหญ่มองว่าอยู่ในภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ และในอุตสาหกรรมอื่น จากช่วงโควิดได้รับผลกระทบและหันไปทำอาชีพอื่น พอฟื้นกลับมาก็หาแรงงานที่ทักษะไม่ได้ และส่วนหนึ่งยังรอนักท่องเที่ยวกลับมา” นายคึกฤทธิ์ กล่าว

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3869 วันที่ 12 – 15 มีนาคม พ.ศ. 2566