นักวิชาการชี้ช่อง สกัดม็อบลงถนนฉุดเศรษฐกิจ

21 ก.ค. 2566 | 05:40 น.

นักวิชาการ ห่วงม็อบหนุน"พิธา"ยืดเยื้อ ซ้ำเติมเศรษฐกิจ หลังก้าวไกลถอยให้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แนะทางออกสกัดชุมนุม ต้องทำการเมืองให้ชัดเจน ประกาศให้สังคมรู้ทิศทางประเทศชาติต้องเดินไปทางใด

การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี รอบสอง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเคร่งเครียด  เพราะเป็นวันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.)ประชุมพิจารณาสถานะความเป็น ส.ส.ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้นและศาล รธน.มีมติให้รับคำร้องพร้อมมีคำสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าจะมีคำสั่งศาลวินิจฉัย

ขณะที่บรรยากาศด้านนอกห้องประชุมรัฐสภาชุลมุนไม่แพ้กัน  มีการร่วมตัวของมวลชนที่สนับสนุน นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศจะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายการโจมตีอยู่ที่ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ  และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากความเคลื่อนไหว ดังกล่าวจะส่งผลให้สถานการณ์รุนแรง และยืดเยื้อหรือไม่ มีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการอย่างน่าสนใจ

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ความเห็นว่า ม็อบสนับสนุนนายพิธา ยืดเยื้อแน่ ส่วนจะรุนแรงหรือไม่มี มีทั้งแนวโน้มจะรุนแรง และไม่รุนแรง แล้วแต่พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย โดยเฉพาะแกนนำจะมีเหตุผลแค่ไหนในภาวะการณ์แบบนี้ เพราะถ้ามีการกระตุ้น รุกเร้าให้มีความคิดในด้านเกลียดชังมากขึ้น จะยกระดับความรุนแรง แต่ถ้าพรรคก้าวไกลพยายามคลี่คลายภาวะการณ์ รักษากฎหมายบ้านเมือง และมองภาพกว้างว่า 

อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  กล่าวอีกว่าคนที่เลือกพรรคก้าวไกล 14 ล้านเสียง อยากให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงทั้ง 14 ล้านคนหรือไม่ เพราะสิ่งที่พรรคก้าวไกลอ้างประชาชน แท้ที่จริงคนที่ออกมาเลือกพรรคก้าวไกล เพราะชอบนโยบายและไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอาจโต้แย้ง จะทำให้สิ่งที่พรรคก้าวไกลอ้างความชอบธรรมลดน้อยลง

 โดยเฉพาะถ้ามีการทุบทำลายข้าวของ และเผาสถานที่ต่างๆทำให้สถานการณ์ลุกลามไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ถ้าคำนึงด้วยเหตุและผล จะลดความรุนแรงลง และอยู่ที่คนที่เป็นหัว ว่าจะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง หรือทำให้กระแสลดลง 
   นักวิชาการชี้ช่อง สกัดม็อบลงถนนฉุดเศรษฐกิจ

 ส่วนการชุมนุมจะยืดเยื้อยาวนานหรือไม่ รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า คงเป็นไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีกันอยู่ จนท้ายที่สุดถ้าไม่ได้อย่างที่ต้องการ จะมีคนออกมามากหรือไม่นั้นไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม มองว่า ในภาวะการณ์อย่างนี้ไม่น่ามีม็อบชนม็อบ 

    รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล  มองว่า การชุมนุม เป็นเรื่องปกติ เป็นการแสดงความเห็นในระบอบประชาธิปไตย  ส่วนเหตุการณ์จะรุนแรงหรือยืดเยื้อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองที่เป็นเหตุ ส่วนการชุมนุมเป็นผล  ถ้าเหตุสามารถแก้ได้ด้วยเหตุผลและการประนีประนอม ปัญหาอาจคลี่คลายตามครรลองประชาธิปไตย ต้องทำการเมืองให้ชัดเจน ให้ม็อบเข้าใจว่าประเทศชาติต้องเดินทางใด  การชุมนุมจะลดความตึงเครียดลงได้ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความเช่ื่อมั่น
 

นักวิชาการด้านสันติวิธี แนะทางเลือก 3 วิธีคือ 1.พรรคเพื่อไทย เสนอนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดต นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี อาจต้องเชิญพรรคก้าวไกล ไปเป็นฝ่ายค้าน แล้วดึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมาเติมเสียงในสภาฯ  สูตรนี้อาจจะได้เสียงส.ว.มาเพิ่ม โดยอ้างว่าเพื่อให้รัฐบาลโดยเร็ว 

 

ทางเลือกที่ 2 พรรคก้าวไกล ยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย  แล้วดึงพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา มาร่วม  เป็นสูตร 8 + 2   ถ้าพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ไม่ร่วมด้วย ก็เหลือ 7+2   หรือดึงพรรคภูมิใจไทย พรรคเดียว  จากนั้น ต้องทำ MOU ใหม่  ทำแผนบริหารราชการแผ่นดินร่วมกัน 

ที่สำคัญต้องเชิญสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่พอจะสนับสนุนสูตรนี้มาประชุม แล้วทำข้อตกลงร่วมกัน  ว่า เห็นด้วยที่จะสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ ต่อหน้าประชาชน หรือจะต่อรองอะไรบางอย่างใน MOU ต้องบอกให้ชัดเจน โดยให้ ส.ว. มีส่วนร่วมด้วย 

รศ.ดร.โคทม กล่าวว่า กระบวนการนี้อาจจะช้า แต่ความหวังของประชาชนพอมีในแง่ของการเปลี่ยนแปลง อาจจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นมากขึ้น อาจเพิ่มค่าขั้นต่ำ เป็นต้น เมื่อประชาชนเลือกมาให้มีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ติดขัดก็ต้องยอม ให้ช้าแต่เดินเครื่องใหม่ ถ้าอธิบายกระบวนการนี้คิดว่า เป็นการคืนความหวังให้ประชาชนระดับหนึ่ง เมื่อประชาชนรู้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเดินไปทางไหน อาจจะดีใจที่เพื่อไทยสามารถผลักก้าวไกลให้เป็นฝ่ายค้าน และแฟนคลับก้าวไกลอาจชุมนุมยาว ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ในการแสดงความเห็นในระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้ชุมนุมจะเห็นทิศทางประเทศชาติว่าจะเดินทางใด 

ทางเลือกที่ 3 กรณีหาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ให้พรรคก้าวไกล และเพื่อไทยตัดสินร่วมกัน หาคนนอกเป็นรัฐมนตรี แต่ต้องทำ MOU จะอยู่ 4 ปี หรืออยู่ปีกว่าๆ จากนั้นคนนอกจะสลายหน้าที่ไปให้ส.ส.จัดการต่อ  

 “ถ้าเลือกแนวทางทำช้าแต่ชัดเจน  หาทางออกร่วมกัน ไม่เลือกตามใจตัวเอง การจัดตั้งรัฐบาลคาดว่าไม่ถึงเดือน ดีกว่าส่งนักการเมืองไปตายทีละคนในสภาฯ”

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า เมื่อนายพิธา ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คงเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทย อาจหาทางออก 3 ประการ คือ

 ประการแรก พรรคเพื่อไทยรวมพรรคก้าวไกลเหมือนเดิม แต่นายกรัฐมนตรี เป็นคนจากพรรคเพื่อไทย โดยก้าวไกล ยอมถอยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล  ยังมีอำนาจในการเสนออะไรต่างๆได้  คิดว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด

ทางออกที่ 2 พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ดึงพรรคภูมิใจไทย  พลังประชารัฐหรือพรรคอื่นๆ เข้าร่วม  ในกรณีมีความเป็นไปได้ แต่ต้องอาศัย ส.ว. ซึ่งเชื่อว่าส.ว.อาจจะสนับสนุนแต่ถ้ายังไม่ได้

ทางออกที่ 3 อาจจะยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย กรณีนี้จะมีปัญหาในการบริหารประเทศ งบประมาณจะผ่านไม่ได้ถ้าไม่มีเสียงข้างมาก จึงมีความเป็นไปได้น้อย และทางออกสุดท้ายโหวตแล้วไม่มีใครได้เป็นนายกรัฐมนตรีเลย จะนำไปสู่มาตรา 272 นายกฯ ที่มาจากคนนอก