พรรคการเมือง มองข้าม LGBTQ ออกนโยบายหาเสียง แค่ผิวเผิน

27 มี.ค. 2566 | 09:28 น.

นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา มองนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง สะท้อนความสำคัญ LGBTQ เพียง 1% สิทธิสมรสยังไม่พอ ต้องสร้างสังคมเพื่อรองรับ LGBTQ อย่างแท้จริง

ท่ามกลางนโยบายหาเสียงแบบประชานิยม ของหลากหลายพรรคการเมือง ที่จัดแพคเกจแจกให้กับหลายกลุ่มประชากร ทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย , กลุ่มเกษตรกร ,กลุ่มแรงงาน เป็นต้น  

ซึ่งปัญหาที่รอการแก้ไข หรือพัฒนานั้น นอกเหนือจากมิติเศรษฐกิจแล้ว ยังมีมิติทางสังคมอื่นๆ ที่น่าจับตาว่า รัฐบาลในอนาคตจะขับเคลื่อนมากน้อยเพียงใด หนึ่งในนั้นคือ นโยบายเพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ซึ่งในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถขับเคลื่อนกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาได้

ฐานเศรษฐกิจ ได้พูดคุยกับผู้ทำงานด้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) จิตติมา ภาณุเตชะ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ถึงมุมมองต่อนโยบายของพรรคการเมือง เพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ)

“พรรคการเมือง ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านความหลากหลายทางเพศเพียง 1% ของนโยบายพรรคเท่านั้น แม้กระทั่งพรรคก้าวไกลเองก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ อย่างเข้มข้นเข้มแข็งเท่าใดนัก” นายกสมาคมเพศวิถีศึกษากล่าว

จิตติมา อธิบายต่อถึงมุมมองที่มี ต่อพรรคการเมืองในการกำหนดนโยบายด้านความหลากหลายทางเพศว่า การจะดูแลกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง จะทำเพียงบางหัวข้อไม่ได้ แต่ต้องตัดขวางไปในทุกๆนโยบายหลักด้วย ซึ่งต้องมาจากการมีวิธีคิดของพรรคการเมือง โดยยึดหลักด้านสิทธิมนุษยชน ที่ไม่ใช่แค่ทำตามเทรนด์ หรือกระแสสังคมเท่านั้น

ปัจจุบันมีการตื่นตัวในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เนื่องจากกระแสสังคม และกระแสจากนานาชาติ ที่ให้ความสำคัญและเกิดการยอมรับในประเด็นความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือการขับเคลื่อนที่มีความชัดเจนมากนัก 

จิตติมา ภาณุเตชะ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา

จิตติมา เผยมุมมองต่อการขับเคลื่อนในปัจจุบันว่า การหยิบยกในเชิงประเด็น เชิงปัญหา เพื่อพยายามขับเคลื่อนทางกฎหมายที่มีออกมานั้น ส่วนใหญ่ยังขาดการมีส่วนร่วม เพื่อออกแบบนโยบายจากฐานความต้องการ และความเข้าใจในผู้ที่ความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง  

สมรสเท่าเทียม ยังไม่พอ

นโยบายความหลากหลายทางเพศ คือนโยบายที่คำนึงถึงบุคคลที่มีรสนิยม และอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความแตกต่างหลากหลาย มากกว่าแค่หญิง หรือชาย นอกจากกฎหมายเรื่องการรับรองสถานะสร้างครอบครัวแล้ว ยังมีเรื่องพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์เพศสภาพ เพื่อให้กลุ่มคนแปลงเพศ(transgender) สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านาม และรับรองอัตลักษณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องตัวตน และการสร้างครอบครัว นับเป็นกุญแจดอกแรก จิตติมากล่าว

ควรต้องมีการพิจารณานโยบายที่มีแนวคิดแบบแบ่งขั้วชายหญิง เพื่อสร้างความครอบคลุมให้รองรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย การกำหนดนโยบายด้านความหลากหลายทางเพศ ของพรรคการเมือง ควรต้องเข้าไปอยู่ในทุกๆแกนของนโยบาย เช่น นโยบายด้านแรงงาน ,การศึกษา ,เศรษฐกิจ ,คุณภาพชีวิต หรือสวัสดิการต่างๆ เช่น การรับฮอร์โมน การผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่ถูกบรรจุไว้ในหลักประกันสุขภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

ดังนั้นการจะชูเรื่องดังกล่าวเพื่อให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นนั้น พรรคการเมืองจะต้องออกแบบสังคม เพื่อการรองรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย เพราะนโยบายพรรคการเมืองเป็นทั้งทิศทางในการพัฒนาประเทศ และเป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อสังคม

 

ซึ่งยังไม่เห็นว่าพรรคการเมืองใด มีการศึกษาวิจัยเพื่อการออกแบบสังคม โดยเฉพาะการรับฟัง และการมีส่วนร่วมของเจ้าของปัญหา หรือจากกลุ่มที่ทำงานขับเคลื่อนในเรื่องความหลากหลายทางเพศ อย่างเข้มข้นจริงจัง ทั้งที่มีองค์กรที่ขับเคลื่อนงานด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่เคยได้พบกับพรรคการเมือง

ยังทำทัน หากพรรคการเมืองมีความจริงใจ

จิตติมา กล่าวถึงการทำนโยบาย เพื่อกลุ่ม LGBTQ ของพรรคการเมือง ให้เป็นรูปธรรมว่า ยังไม่มีพรรคใดที่ชี้ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างชัดเจน แม้แต่ประเด็นที่มีการขับเคลื่อนด้านการสมรส ก็มีเสียงที่แผ่วเบา และไม่สามารถทำให้สังคมรู้สึกว่าเป็นปัญหาร่วมกันได้ ถูกมองเป็นเพียงปัญหาเฉพาะของกลุ่มเฉพาะเท่านั้น 

แม้เหลือเวลาอีกไม่มากนักก่อนถึงวันเลือกตั้ง แต่ยังไม่สายเกินไป ถ้าพรรคการเมืองมีความจริงใจ ที่จะปรับแต่งนโยบาย ให้เป็นลักษณะออกแบบสังคมเพื่อรองรับความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่เน้นเพียงนโยบายที่มีการแจก แข่งขันตัวเลขที่จะแจกให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นการสื่อสารในเชิงซื้อ

แต่กลับไม่มีนโยบายที่เป็นการออกแบบสังคม ที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ โดยพรรคการเมืองมักมุ่งเน้นนโยบายแก้ปัญหาปากท้องแบบเฉพาะหน้า ขาดนโยบายเชิงคุณภาพชีวิตที่แก้ไขจากรากของปัญหา โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างแท้จริง