"ณฐพร"ส่งจม.เปิดผนึกถึง"เศรษฐา" แฉ 4 ว่าที่รมต.มีพฤติกรรมส่อขัดรธน.

29 ส.ค. 2566 | 07:53 น.

"ณฐพร"ส่งจม.เปิดผนึกถึงนายกฯเศรษฐา เปิดโปงพฤติกรรม "อนุทิน-ธรรมนัส -สุริยะ-สมศักดิ์"มีพฤติกรรมส่อขัดรธน.เสี่ยงไม่ผ่านคุณสมบัติรัฐมนตรี เตือนสำนักเลขาฯครม. ขืนเสนอชื่ออาจถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 157

วันที่ 29 ส.ค.2466 นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน  ทำจดหมายเปิดผนึก ถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  โดยมีข้อความว่า 

ผมมิอาจทนเห็นพฤติกรรม การกระทำของนักการเมืองที่ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กรณีปรากฏข่าวตามสื่อมวลชนว่า มีการแต่งตั้งนักการเมืองเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อาทิเช่น
\"ณฐพร\"ส่งจม.เปิดผนึกถึง\"เศรษฐา\" แฉ 4 ว่าที่รมต.มีพฤติกรรมส่อขัดรธน.

1. นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีกรณี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาว่า นายอนุทินฯ จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อตำแหน่งราชการ ไม่ซื่อสัตย์ รวมถึงการจัดหาจัดซื้อวัคซีนไม่โปร่งใส แสวงหาประโยชน์บนความตาย และกีดกันวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ผูกขาดตัดตอนให้มีวัคซีนยี่ห้อเดียว เอื้อประโยชน์ให้เอกชน ทำให้วัคซีนขาดแคลน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล

สรุปว่า การอภิปรายของนายประเสริฐ เป็นความเท็จ เพราะขณะนี้ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า นายอนุทินฯ เป็นผู้มีความประพฤติซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ ใช่ไหมครับ จึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรี

และเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน กรณีที่ดินเขากระโดง ของตระกูลชิดชอบกับพวก ตามที่ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้ เพิกถอนโฉนด และคดีนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างเชื่องช้าของกรมที่ดิน หากนายอนุทิน ฯ มาเป็นรัฐมนตรีฯ อธิบดีกรมที่ดิน จะปฏิบัติหน้าที่อย่างไรครับ

 

2.ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็น รัฐมนตรีกระทรวงว่าการเกษตร ทั้ง ๆ ที่เคยถูก ศาลออสเตรเลีย มีคำพิพากษาจำคุก เกี่ยวกับคดียาเสพติด และมีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดีต่างๆ ดังนี้

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า
1) คดีร่วมกันฆาตกรรมด็อกเตอร์ ปี 2541 โดย ร้อยเอก ธรรมนัส ฯ ได้ถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำถึง 3 ปี 1 เดือน จนได้รับการประกันตัวในปี 2544

2) คดีโกงบิตคอยน์ของชาวฟินแลนด์ บ.ดีเอ็นเอ ที่ ร้อยเอก ธรรมนัส ฯ ซื้อหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ฯ

3) กรณีถูกกล่าวหาเป็น 1 ใน 5 เสือ กองสลาก ฯ

4) ปมการโอนหุ้นของภรรยา ร้อยเอก ธรรมนัส ฯ กรณีถือครองหุ้นมากกว่า 5% โดยไม่แจ้งต่อประธานปปช. ตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543

5) กรณีวุฒิการศึกษา โดยเว็บไชต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แต่เมื่อค้นหลักฐานแล้วพบว่า   แท้จริงแล้วธรรมนัส สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนานาชาติคาลามัส (Calamus International University) ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ถูกขึ้นบัญชีดำ และไม่ได้รับการยอมรับวุฒิการศึกษาในหลายประเทศ

จากคดีความต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น เห็นได้อย่างแจ้งชัดว่า บุคคลผู้นี้ ไม่มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (4) มีความประพฤติ ซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ กรณีอย่างนี้เขาจึงเรียกว่า ไม่มีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีได้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

3. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งในอดีตเคยเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในยุครัฐบาลทักษิณ ก็มีพฤติการณ์การกระทำ เรื่องทุจริตประพฤติมิชอบ เกี่ยวกับคดีทุจริตสุวรรณภูมิ ที่คณะกรรมการวิสามัญ ติดตามแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ดีเอสไอส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

1) กรณีทุจริตในการจ้างเอกชนเข้าบริหารกิจการโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

2) กรณีพิจารณาต่ออายุสัญญาของบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

3) กรณีการประมูลงานจ้างเหมาบริการรักษาความปลอดภัยโดยวิธีพิเศษ

4) กรณีทุจริตเกี่ยวกับการจัดจ้าง ผู้ให้บริการรถเข็นกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยแอร์พอร์ตกราวต์ เซอร์วิสเซส จำกัด (TAGS)

5) กรณีประมูลเช่ารถบริการรับ-ส่งผู้โดยสาร (LIMOUSINE)

6) กรณีทำสัญญาหาผลประโยชน์ในพื้นที่ศูนย์บริหารการขนส่ง

7) กรณีติดตั้งหลังคาผ้าใบอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ

8) กรณีจ้างกลุ่ม SPS Consortium เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการขยะในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

9) กรณีการให้สัญญาสัมปทานเอกชนประกอบกิจการ Day Room (ห้องพักแรม) ในอาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

10) คดี CTX

11) คดีเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส มูลค่าความเสียหายห้าหมื่นสามพันกว่าล้านบาท

12) กรณีคดีฮั้วประมูลท่อร้อยสาย ที่ไหน

13) กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157 ไม่กำกับดูแลดำเนินการเอาผิดต่อบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จากัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ
กรณีของนายสุริยะ ฯ ที่เคยดำรงตาแหน่งรัฐมนตรี ผลงานที่ประจักษณ์ คือ ปัญหาการทุจริตคอรัปชัน บุคคลอย่างนี้หรือที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4)

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

4. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น เป็น รองนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งล่าสุดเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็มีพฤติการณ์การกระทำ และเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของปปช. ดังนี้

1) กรณีการลดโทษผู้ต้องขังกรณีจำนำข้าว

2) กรณีปล่อยปละละเลย ช่วยเหลือ และเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน ทุจริตโครงการเช่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว กำไล EM

3) กรณีช่วยเหลือให้บริษัทเอกชน เบิกเงินค่าเช่างบประมาณประจำปี 2566 ที่เหลือไปให้หมด โดยไม่สั่งการ หรือระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน

นี่คือตัวอย่างของบุคคล ที่พรรคเพื่อไทยคัดเลือกแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และบุคคลพวกนี้หรือครับ ที่จะมาเป็นผู้บริหาร จัดการปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เรื่องค่าครองชีพ อีกทั้งบุคคลตัวอย่างข้างต้น ก็เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่า มีพฤติกรรมการกระทำ ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ

ผมไม่เข้าใจว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะหาสส. หรือบุคคลภายนอก ที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ได้เชียวหรือ นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ มิได้มีความตั้งใจที่จะบริหารประเทศบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชน แต่เป็นรัฐบาลที่ต้องการใช้อำนาจรัฐในการแสวงหาผลประโยชน์

ฉะนั้น ผมจึงต้องทำจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ถึงท่านนายกรัฐมนตรี และขอเตือนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติบุคคล หากพวกท่านไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พวกท่านอาจจะถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 157 นะครับ