Robinhood ในมือ”ยิบอินซอย”เปลี่ยนจาก CSR สู่แพลตฟอร์มบริการยั่งยืน

08 ต.ค. 2567 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2567 | 09:27 น.

ชื่อ"ยิบอินซอย"กลายเป็นสปอตไลท์ขึ้นมา ภายหลังร่วมพาร์ทเนอร์ เข้าซื้อหุ้นบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการแอป Robinhood จากยานแม่ SCBX การซื้อขายคิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท เบื้องต้นชำระทันที 400 ล้านบาท และส่วนเพิ่มตามผลประกอบการสูงสุดไม่เกิน 1,600 ล้านบาท

โดย “ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นางมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด  ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่  บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด เจ้าของแอป  Robinhood  ถึงเหตุผลการตัดสินใจซื้อกิจการ  และการขับเคลื่อนแอป Robinhood ไปสู่อนาคต    

Robinhood ในมือ”ยิบอินซอย”เปลี่ยนจาก CSR สู่แพลตฟอร์มบริการยั่งยืน

นางมรกต  เล่าว่าการตัดสินใจเข้าซื้อ Robinhood นั้นมีทั้งคนชื่นชม คนที่ห้ามไม่ให้ซื้อ  รวมถึงคนที่ปรามาศว่าจะไปรอดหรือไม่  แต่ในมุมมองของยิบอินซอย  มองว่าแอป  Robinhood ของคนไทยที่ดี  และมีโอกาสเติบโต  ขณะที่แบรนด์ Robinhood มีความแข็งแกร่ง     โดยในช่วงพีคสุด  มียอดสั่งออเดอร์ผ่านแอป  Robinhood อยู่ที่ 200,000 ออเดอร์ต่อวัน 

แต่ที่ผ่านมา  Robinhood ต้องเผชิญกับการขาดทุนสะสมกว่า 5.5 พันล้านบาทในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพราะ Robinhood  เริ่มต้นจากการเป็นแพลตฟอร์ม SCBX  ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยเน้นการเป็นโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) ด้วยการให้บริการส่งอาหารโดยไม่คิดค่าบริการ GP (Gross Profit) และไม่คิดค่าส่ง

Robinhood ในมือ”ยิบอินซอย”เปลี่ยนจาก CSR สู่แพลตฟอร์มบริการยั่งยืน

ยิบอินซอยร่วมกับพันธมิตรเข้ามาซื้อกิจการ เพราะไม่ต้องการให้แอปบริการดีๆ ของคนไทยต้องปิดให้บริการไป อีกทั้งยังมองว่าเป็นดีลที่ดี   โดย SCBX  ให้จ่ายเงินเบื้องต้น 400 ล้านบาท    ที่เหลือแบ่งจ่ายตามกำไรที่ได้  โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาจ่าย   ที่สำคัญทำให้  ยิบอินซอย  เข้าสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มบริการ  (Platform as a Service)  ได้ทันที   โดยไม่ต้องเสียเวลา  และเงินลงทุนสร้างพัฒนาระบบ  รวมไปถึงการลงทุนสร้างแบรนด์

ยิบอินซอยมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของ Robinhood ให้กลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน โดยจะเปลี่ยนจากการทำ CSR มาเป็นการสร้างรายได้จริง ด้วยการขยับค่าบริการ GP จากเดิมที่ 20% ขึ้นเป็น 25% และเพิ่มค่าบริการโปรโมชันแบบอัตโนมัติอีก 3% รวมเป็น 28%  

Robinhood ในมือ”ยิบอินซอย”เปลี่ยนจาก CSR สู่แพลตฟอร์มบริการยั่งยืน

อย่างไรก็ตามร้านค้าไม่ต้องเสียค่าโปรโมตหน้าร้านขึ้นมาอยู่บนหน้าแอป   เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการโปรโมต ยิบอินซอยได้พัฒนาแผนการเลือกแสดงผลร้านค้าบนหน้าแอปพลิเคชันแบบหมุนเวียน (Automatic Promotion) เพื่อให้ร้านค้าทุกขนาดได้มีโอกาสเข้าถึงลูกค้า ไม่ใช่เพียงผู้ที่มีงบประมาณในการจ่ายค่าโปรโมชันเท่านั้น โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอและอยู่รอดในระยะยาว

นอกจากนี้ ยิบอินซอยยังให้ความสำคัญกับการจัดการระบบภายในแพลตฟอร์มเพื่อให้การบริการมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น   

นอกจากยังมุ่งเน้นกลุ่มตลาดที่มีความแข็งแกร่ง  โดยยิบอินซอยมองว่า Robinhood ไม่จำเป็นต้องแข่งกับรายใหญ่โดยตรงในตลาดที่เน้นการให้บริการฟรีหรือส่วนลดต่างๆ แต่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างบริการที่มีคุณค่าให้แก่ลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน และร้านค้าที่ต้องการร่วมมือในระบบนิเวศที่เกื้อกูลกัน

"ตอนนี้ Robinhood อยู่อันดับ 5 ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี รองจาก Grab LINEMAN  foodpanda  และ Shopee   ซึ่งเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายขยับอันดับ  ไม่ต้องการกระโดดลงไปเล่นตลาด Money Game  ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับรายใหญ่ที่มุ่งเน้นการแจกส่วนลด  แล้วไปเก็บค่า GP จากร้านค้าเพิ่มขึ้น  แบบนั้นเราไม่ทำ   แต่จะเน้นการสร้างบริการที่มีคุณค่าและตอบสนองความต้องการของลูกค้าจริง ๆ"

ยิบอินซอยเชื่อว่า การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้จะทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่สามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ โดยยิบอินซอยเน้นให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายในระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ไรเดอร์ และผู้ใช้บริการ

1. การดูแลไรเดอร์: ไรเดอร์ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ยิบอินซอยมีแนวคิดที่จะปรับปรุงสภาพการทำงานและรายได้ของไรเดอร์เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยยกระดับมาตรฐานการทำงานให้มีความเป็นมืออาชีพ รวมถึงการส่งเสริมการใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของไรเดอร์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการอบรมไรเดอร์อย่างเข้มข้นเพื่อให้บริการที่สุภาพและเป็นมาตรฐาน

2. การส่งเสริมร้านค้า: ร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์ม  Robinhood มีความหลากหลาย ตั้งแต่ร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงร้านที่มีชื่อเสียง ยิบอินซอยวางแผนที่จะส่งเสริมร้านค้าโดยเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มได้รับการโปรโมตอย่างเท่าเทียมกัน และมีการปรับระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของร้านค้า ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบการชำระเงินและการส่งเสริมการขาย เพื่อให้ร้านค้าสามารถขยายธุรกิจได้ในระยะยาว

3. การสร้างความร่วมมือภายในระบบนิเวศ: ยิบอินซอยเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในระบบนิเวศ โดยมองว่า การแข่งขันที่สมดุลและการมองเห็นคุณค่าของทุกฝ่ายในระบบจะทำให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง

Robinhood ในมือ”ยิบอินซอย”เปลี่ยนจาก CSR สู่แพลตฟอร์มบริการยั่งยืน

ยิบอินซอยมองว่าการขยายธุรกิจ Robinhood ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากการสร้างความมั่นคงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อระบบนิเวศของธุรกิจมีความแข็งแกร่งพอแล้ว จึงจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความต้องการและศักยภาพสูง

นางมรกต ระบุว่าตอนนี้มีลิสต์รายชื่อไรเดอร์ 25,000 ราย   ซึ่งต้องดึงไรเดอร์ที่ออกจากระบบไปก่อนหน้านี้กลับเข้ามาอยู่ในครอบครัว  Robinhood  เช่นเดียวกับร้านค้าที่มีเป็นแสนราย   โดยคาดว่า  Robinhood จะเริ่มมั่นคงขึ้นราวไตรมาสแรกปีหน้า   

Robinhood ภายใต้การดูแลของยิบอินซอย จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างแอปพลิเคชันที่รวมบริการหลากหลายไม่เพียงแค่การส่งอาหาร แต่ยังรวมถึงบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและผู้ประกอบการ โดยมีแผนจะพัฒนาระบบเทคโนโลยีและบริการให้สอดรับกับเทรนด์ในอนาคต รวมถึงความเชี่ยวชาญของพาร์ทเนอร์ เช่น การสร้างบริการโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมมากขึ้น การพัฒนาแพลตฟอร์มที่รองรับการชำระเงินดิจิทัล และการเสริมทัพด้วยบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้   เช่นเดียวกับรถที่ใช้บริการส่งอาหาร  ที่มีแผนเปลี่ยนมาใช้ รถมอเตอร์ไซด์ EV

ยิบอินซอยเชื่อว่า ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีจะสามารถเติบโตได้หากทุกฝ่ายในระบบนิเวศเข้าใจและเห็นคุณค่าของกันและกัน การสร้างระบบที่เกื้อกูลกันนี้จะทำให้ Robinhood สามารถยืนหยัดและเติบโตในตลาดได้อย่างยั่งยืน