การต่อสู้ของ TSMC ยักษ์ใหญ่ชิปไต้หวัน ท่ามกลางศึกมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน

25 พ.ค. 2567 | 11:25 น.

TSMC ยักษ์ใหญ่ชิปเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน กำลังดิ้นรนในสมรภูมิของมหาอำนาจ "สหรฐฯ-จีน" เมื่อความตึงเครียดทวีความรุนแรง สิ่งที่จับตาคือ TSMC จะใช้กลยุทธ์อย่างไรเพื่อปกป้องตนเองและรักษาความเป็นผู้นำในการผลิตชิปขั้นสูง

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ แม้แต่หน้าจอที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ก็ต้องใช้ชิป ส่วนประกอบสำคัญนี้ผลิตโดยบริษัทเพียงไม่กี่บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออก

"ไต้หวัน" เพียงประเทศเดียวผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประมาณ 70% ของโลก และมากกว่า 90 % ของ เซมิคอนดักเตอร์ ระดับสูงสุด

ชิป คือ แผงวงจรไฟฟ้าขนาดเล็กทำหน้าที่ประมวลผล เก็บข้อมูล และส่งข้อมูล เปรียบเสมือนสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ เช่น ชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์ หรือ CPU ชิปประมวลผลกราฟิกการ์ดจอ หรือ GPU ชิปประมวลผลบนสมาร์ทโฟน

บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน (TSMC) ยืนหยัดในความสามารถในการบรรจุชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กหลายล้านชิ้นที่เรียกว่าทรานซิสเตอร์ ไว้บนพื้นแผงวงจรไฟฟ้าหรือเวเฟอร์

หกทศวรรษที่แล้ว เมื่อมีการประดิษฐ์ชิปตัวแรกของโลก ชิปดังกล่าวมีทรานซิสเตอร์เพียงสี่ตัว เเต่ปัจจุบัน โปรเซสเซอร์ที่ผลิตโดย TSMC ซึ่งใช้ใน iPhone รุ่นล่าสุดของ Apple มีทรานซิสเตอร์มากกว่า 16 พันล้านตัว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทชิปยักษ์ใหญ่รายนี้ยังได้ผลิตสิ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นชิปที่ทรงพลังที่สุดในโลก นั่นคือ Blackwell 200 ของ Nvidia ซึ่งมีทรานซิสเตอร์จำนวนมหาศาลถึง 208 พันล้านตัว

ฐานะผู้นำของ TSMC ในการผลิตชิปขั้นสูง การเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และการตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางการเมือง จึงทำให้บริษัทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและการแข่งขันทางเทคโนโลยีของโลก เเต่ระดับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญก็เช่นกัน ทั้ง สหรัฐฯและจีน สองมหาอำนาจต่างแข่งขันกันเพื่อควบคุมองค์ประกอบที่สำคัญนี้ให้มากขึ้น

มีเสียงวิพากวิจารณ์ว่าไต้หวันไปพัวพันกับการแย่งชิงอำนาจของมหาอำนาจทั้งสองมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบี้ยในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์นำมาซึ่งการพูดถึง ความอยู่รอดของ TSMC ผู้ผลิตชิปตามสัญญารายใหญ่ที่สุดของโลก อย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางทหารในช่องแคบไต้หวัน

การขยายธุรกิจในต่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ของ TSMC ยังทำให้เกิดความกังวลว่าบริษัทจะย้ายการผลิตหลักไปที่อื่นหรือไม่

ผู้สังเกตการณ์บางคน กล่าวว่า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะเร่งแผนการขยายธุรกิจทั่วโลกของ TSMC แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทได้ปฏิเสธการคาดการณ์ดังกล่าว

บริษัทให้คำมั่นว่าจะรักษาการผลิตอย่างน้อย 80-90 % ในไต้หวัน และรักษาฐานการวิจัยและการพัฒนาที่นั่น

ผู้สังเกตการณ์บอกว่า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นเรื่องปกติที่บริษัทขนาดใหญ่อย่าง TSMC จะต้องกระจายสถานที่ตั้งและตั้งสำนักงานในประเทศต่างๆ ก็เป็นเรื่องดีที่ TSMC ออกไปเรียนรู้และดำเนินงานในประเทศและวัฒนธรรมต่างๆ นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโต

TSMC กำลังเผชิญกับข้อจำกัดมากมายในการเติบโตภายในไต้หวัน การย้าย การดำเนินงานบางส่วน ไปต่างประเทศไม่ได้หมายถึงการลดความมุ่งมั่นต่อไต้หวัน ตราบใดที่สำนักงานใหญ่และสิ่งอำนวยความสะดวกหลักยังคงอยู่ในไต้หวัน

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเร่งเพิ่มผลผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ โดยได้ลงนามในกฎหมาย CHIPS และวิทยาศาสตร์เป็นกฎหมายในปี 2022 เพื่อสนับสนุนการวิจัย การพัฒนา และการผลิต

นักวิเคราะห์บางคน เชื่อว่า หากสหรัฐฯ สร้างระบบนิเวศและลดการพึ่งพาชิปของไต้หวัน ก็มีแรงจูงใจน้อยลงที่จะเข้ามาปกป้องไต้หวันหากจีนโจมตี

TSMC หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company เป็นบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมากในหลายด้าน 

  • ผู้นำด้านการผลิตชิปขั้นสูง TSMC เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่และทันสมัยที่สุด สามารถผลิตชิปที่ทรงประสิทธิภาพและมีความซับซ้อนสูง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสมัยใหม่
  • มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% TSMC ครองส่วนแบ่งตลาดการผลิตชิปแบบรับจ้างผลิตมากกว่า 50% ทำให้เป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก
  • เป็นผู้ผลิตชิปให้กับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ อาทิ Apple, Nvidia, AMD, Qualcomm เป็นต้น ทำให้ TSMC มีบทบาทสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเหล่านี้
  • อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นพื้นฐานของนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การผลิตชิปที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมทั่วโลก
  • TSMC ตั้งอยู่ในไต้หวัน มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้บริษัทต้องเผชิญความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ

ที่มา 

CNA