กสทช. ฮึ่ม จัดระเบียบจดแจ้งซิมการ์ดมือถือ มีเกิน 5 ซิมต้องยืนยันตัวตน

20 พ.ย. 2566 | 06:17 น.

กสทช. เตรียมออกประกาศจัดระเบียบจดแจ้งซิมมือถือต้นปี 67 ถือครองเ 6-100 ซิม ต้องยืนยันตัวตน เผยแก๊งคอลเซ็นเตอร์สร้างความเสียหายกว่า 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่สถิติคนไทย 75% ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหา

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช.ด้านกฎหมายและประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฏหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ เปิดเผยว่า  กสทช. เตรียมออกประกาศเกี่ยวกับการประกาศจดแจ้งซิมการ์ด เพื่อเสนอบอร์ดภายในเดือนธันวาคม 2566  เพื่อออกประกาศภายในเดือนมกราคม 2567  หลังจากได้จัดทำโฟกัสกรุ๊ปจำนวน 2 ครั้งแล้ว สำหรับจำนวนเลขหมายทั้งหมดในปัจจุบัน 120 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นบุคคลธรรมดาและต่างชาติ  93.6 ล้านเลขหมาย  นิติบุคคล/อุปกรณ์ไอที จำนวน 26.4 ล้านเลขหมาย  

จำนวนผู้ที่ถือครองเลขหมาย  64,802,813 คน จำนวนถือครองซิมการ์ด  94,652,517 เลขหมาย  แบ่งเป็นดังนี้

  • จำนวนผู้ถือครองเลขหมาย  1-5 เลขหมาย จำนวน 64,509,001 คน  จำนวน 85.1 ล้านเลขหมาย บุคคลธรรมดา ต้องมายืนยันตัวตนภายใน 1 ปี
  • จำนวนผู้ถือครองเลขหมาย  6-100 เลขหมาย จำนวน 286,148 คน จำนวน 3.3  ล้านเลขหมาย  ต้องมายืนยันตัวตนภายใน 180 วัน
  • ถือครองมากกว่า 101 ขึ้นไป จำนวน 7,664 คน จำนวน 6.1 ล้านเลขหมาย ต้องมายืนยันตัวตนภายใน 30 วัน

เหตุผลที่ต้องให้ผู้ครอบครองซิมเพื่อต้องการทราบชื่ออย่างเป็นทางการ ดังนั้นหากผู้ที่ครอบครองเลขหมาย ไม่ได้มายืนยันตัวตนภายในเวลาที่กำหนดจะถูกระงับการโทรออกของผู้ใช้บริการรายนั้นทุกเลขหมายชั่วคราว หากระงับการบริการ 30 วันแล้วผู้ลงทะเบียนยังเพิกเฉย จะยกเลิกเลขหมายทั้งหมดของผู้ใช้บริการรายนั้น

พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับมาตรการควบคุมและป้องกันที่ กสทช.ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ บริการหมายเลข *138 ให้ประชาชนปฏิเสธสายจากต่างประเทศ *179*เลขบัตรประชาชน# ตรวจสอบเบอร์ที่ลงทะเบียนกับเลขบัตรประชาชน, การใช้งาน App 3ชั้น “ตรวจ แจ้ง ล็อค” รวมถึงการลงทะเบียน SIM Card หมายเลขโทรศัพท์

“ในอดีตไม่สามารถจับตัวจริงได้เลยจับได้ก็ถือว่าน้อยมากเพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านั้นตั้งศูนย์บัญชาการที่ขอบชายแดน จับได้ คือบัญชีม้า หรือ ม้าใส โดนหลอกให้เปิดบัญชีจริง และ ม้ารู้ คือเปิดบัญชีให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เท่านั้น”

 

ด้าน พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สถิติแจ้งความออนไลน์ สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 65 – 10 พฤศจิกายน 2566 มีทั้งหมด 390,863 เรื่อง แบ่งเป็นคดีออนไลน์ 361,655 เรื่อง  และ คดีอาญาอื่นๆ  10,607 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 49,056,482,817 บาท

" ประชาชนส่วนใหญ่ 75% ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหา มีความแนบเนียนคนร้ายหรือคนรู้จัก โทรมาข่มขู่ วิธีการตรวจสอบง่ายสุด คือ การตัดสายทิ้ง หรือ โทรกลับไปยังต้นทางก็ไม่มีปัญาเมื่อโทรกลับไปแล้วไม่มีคนรับสายแสดงว่า คือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์" พล.ต.ต.นิเวศน์ กล่าว 

แจ้งความออนไลน์