AIS – ARV เครือปตท. ต่อยอดปัญญาประดิษฐ์ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์

11 ก.ค. 2566 | 09:06 น.

AIS – ARV ในเครือ ปตท. ต่อยอดความร่วมมือในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ส่งนวัตกรรมใหม่ AI Autonomous Drone System บนโครงข่าย 5G ครั้งแรกในไทย พัฒนาโดรนอัจฉริยะฝีมือคนไทยที่มีระบบ AI

จากกรณีที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ  AIS และ กลุ่มปตท. ได้มีความร่วมมือในพื้นที่วันจันทร์วันเลย์  ตั้งแต่ปี 2561 ในการนำ5G และ แพลตฟอร์มมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ พัฒนาโดยกลุ่ม ปตท. และเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi โดยร่วมมือกับบริษัท ARV ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของไทย ภายใต้ ปตท.สผ. เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม

ล่าสุด นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอส ได้ยกระดับการทำงานของโดรนไปอีกขั้นสู่ 5G AI Autonomous Drone System (Horrus) ครั้งแรกของไทยที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย ซึ่งนำเทคโนโลยี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์  ทั้งนี้   AIS ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การออกแบบ Network Architecture หรือ สถาปัตยกรรมโครงข่าย 5G SA (Standalone) บนคลื่น 2600 MHz โดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี Autonomous Network ซึ่งมีความอัจฉริยะในการจัดการระบบได้ด้วยตัวเอง, การใช้ Network Slicing เพื่อตอบสนองแอปพลิเคชันที่ต้องการคุณสมบัติทางเครือข่ายที่แตกต่างกัน รวมถึงบริการ MEC (Multi-access EDGE Computing) และ PARAGON Platform เพื่อรองรับการบริหารจัดการ และพัฒนาโซลูชันที่ต้องการความหน่วงต่ำด้วย ถือเป็น 5G Testbed พื้นที่สำหรับทดสอบทดลองที่เปิดกว้างให้องค์กร

AIS – ARV เครือปตท. ต่อยอดปัญญาประดิษฐ์ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์

ด้าน ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ในเครือ ปตท. สผ. กล่าวเสริมว่า  ปตท.มีความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกระดับ โดย 5G AI Autonomous Drone System (Horrus) เป็นอีกหนึ่งใน Use Case ใช้งานได้จริงในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ที่มีความพร้อมด้านพื้นที่เพื่อการทดสอบทดลอง จากการผ่อนปรนกฎระเบียบพิเศษ สำหรับทดลองทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม หรือ UAV Regulatory Sandbox และความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่นำมาใช้พัฒนา Solution นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพัฒนาโดรนอัจฉริยะฝีมือคนไทยที่มีระบบ AI เข้ามาเป็นหัวใจหลักในการทำงานด้วยเครือข่ายไร้สายอัจฉริยะ

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์