ก้าวข้ามข้อจำกัด นักวิจัยมทส.ทำได้"พลาสติกชีวภาพ"เจนใหม่

23 มี.ค. 2566 | 08:22 น.

สุดยอด! นักวิจัย มทส. ทะลายข้อจำกัดพลาสติกชีวภาพ  พร้อมดันสู่ “บรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋อง-แช่เยือกแข็งรักษ์โลก” ทนร้อน-นึ่งได้ เพิ่มขีดแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารไทย

วันที่ 22 มี.ค.2566 ที่ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มีการแถลงผลงานวิจัยและนวัตกรรม “บรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องและอาหารแช่เยือกแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้เชิงชีวภาพ”  

โดยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มทส. กล่าวว่า จากการที่ มทส.เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีเป้าหมายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยด้วยการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคม สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมระดับประเทศ ควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการ ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มทส.

ก้าวข้ามข้อจำกัด นักวิจัยมทส.ทำได้"พลาสติกชีวภาพ"เจนใหม่

ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ  สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. ได้นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมพอลิเมอร์ ผสานกับทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้ศึกษาวิจัยทำให้ได้บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (Bioplastic) ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เหมาะกับกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง และบรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋อง ที่ปรับใช้ได้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาด  รองรับการใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น 

ถือเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการที่สนใจได้ทันที  สนองตอบโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่าเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ได้อย่างสมดุล มั่นคงและยั่งยืน

ก้าวข้ามข้อจำกัด นักวิจัยมทส.ทำได้"พลาสติกชีวภาพ"เจนใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ นักวิจัยเจ้าของผลงาน

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ นักวิจัยเจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจกับความปลอดภัยของสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเห็นได้จากบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุฐานชีวภาพ (Bio–Degradable Packaging) และย่อยสลายได้ภายในเวลา 2 - 5 เดือน ตามมาตรฐานกระบวนการฝั่งกลบ ได้รับความสนใจนำมาใช้เป็นภาชนะใส่อาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกทั่วไป ที่ผลิตจากปิโตรเคมีที่ใช้เวลาย่อยสลายกว่า 400 ปี สร้างปัญหาขยะตกค้าง และเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม 

การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนวัตกรรม “บรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องและอาหารแช่เยือกแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้เชิงชีวภาพ” ได้ศึกษาวิจัยเพื่อทะลายข้อจำกัดทั่วไป และเพิ่มขีดความสามารถของไบโอพลาสติก (Bioplastic) คือจากปกติที่ทนความร้อนที่ 50 องศาเซลเซียส  พัฒนาคุณสมบัติสู่ทนความร้อนได้สูงถึง 150 องศาเซลเซียส

ก้าวข้ามข้อจำกัด นักวิจัยมทส.ทำได้"พลาสติกชีวภาพ"เจนใหม่  

และจากผลทดสอบของห้องปฏิบัติการ สามารถพัฒนาต่อยอดเชิงอุตสาหกรรม ในแง่บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารกระป๋อง ได้ตามมาตรฐานกระบวนการผลิตอาหารกระป๋อง ที่สำคัญคือต้องผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณภูมิ 121 องศาเซลเซียส ด้วยความดันที่ 15 psi (พีเอสไอ) เป็นเวลา 15 นาที   

จากผลสำเร็จนี้จะช่วยเปิดทางไปสู่การพัฒนาต่อยอด สำหรับอุตสาหกรรมส่งออกอาหารของไทย ที่มุ่งขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคที่ใสใจสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม  อีกทั้งทำให้เพิ่มความหลากหลายในการใช้งานของพลาสติกชีวภาพ ไม่มีข้อจำกัดด้านรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติรองรับอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็งได้เป็นอย่างดี

สำหรับความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์นั้น จากการศึกษาในแง่ต้นทุนและควบคุมการผลิต สามารถควบคุมต้นทุนให้ไม่สูงมาก หรือใกล้เคียงกับพลาสติกทั่วไปได้ ด้วยปัจจัยหลักคือ วัสดุฐานชีวภาพจากพลาสติก PLA จากวัสดุธรรมชาติ มีผู้ผลิตป้อนสู่ท้องตลาดอย่างสม่ำเสมอ  และปัจจัยการผลิตแบบฉีดขึ้นรูป ที่สามารถใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเดิมตามปกติ ทำให้ลดต้นทุนส่วนนี้ไปได้มาก ต้นทุนจึงอยู่ที่ประมาณ 50 สตางค์ – 1 บาท ต่อแพ็ค 

ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่อนุรักษ์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคสูง  จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการช่วยผลักดันมูลค่าทางการตลาด 

โดยบางประเทศในแถบยุโรป ได้ออกกฏหมายควบคุมส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์เชิงชีวภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ประกอบกับการที่ประเทศไทยประกาศเป็นครัวโลก มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋อง และอาหารแช่เยือกแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังย่อยสลายได้เชิงชีวภาพได้เป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของโลก  

"ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค และใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม   สอดคล้องกับความต้องการของทั่วโลก ที่มุ่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals–SDGs  ที่ครอบคลุมมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และโดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย" ผศ. ดร.อุทัย มีคำ กล่าวส่งท้าย