ทิศทางภาคแรงงานยุโรป-สหรัฐ หุ่นยนต์จะรองรับงานกว่า 20ล้านตำแหน่งในปี2573

19 มี.ค. 2566 | 09:40 น.

“ทิศทางการปรับตัวภาคแรงงาน ในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา” ระบุอีกเพียงหนึ่งทศวรรษ พนักงาน 1.2 พันล้านคนทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการปรับใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและ AI โดยครึ่งหนึ่งของงานในโลกจะถูกกระทบ และจะมีผลต่อการจ้างงานราว 14.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ทิศทางการปรับตัวภาคแรงงาน ในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา” บทความจาก BOT พระสยาม MAGAZINE โดยผู้เขียน “ คมเพชร  กรองกระจ่าง”ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กรธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า

 เมื่อโลกเริ่มเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้มีการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) Internet of Things (IoT) และ cloud computing มาพลิกโฉมการทำงานของโลก การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ทิศทางการทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้า แตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

 

งานในโลกอนาคต

          อีกเพียงหนึ่งทศวรรษ พนักงาน 1.2 พันล้านคนทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการปรับใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและ AI โดยครึ่งหนึ่งของงานในโลกจะถูกกระทบ และจะมีผลต่อการจ้างงานราว 14.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับรายงานของ CNBC ที่กล่าวว่า หุ่นยนต์จะสามารถรองรับงานได้มากกว่า 20 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2573

แม้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะปรับเปลี่ยนรูปแบบงานไปครึ่งหนึ่ง แต่ก็คาดว่าจะลดจำนวนงานลงไม่เกิน 5% โดยคนส่วนใหญ่จะไม่ตกงานแต่ต้องปรับตัวให้ทำงานร่วมกับเครื่องจักรที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วแทน งานในอนาคตจะเน้นการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น

วิศวกรคอมพิวเตอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูล (Information and Communication Technology: ICT) แต่ที่น่ากังวลคือ จากข้อเท็จจริงในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า ผู้นำทางธุรกิจก็ไม่ได้เตรียมพนักงานของตนให้มีทักษะที่จำเป็นเพียงพอต่องานในอนาคต โดย 9 ใน 10 งานจะต้องใช้ทักษะด้านดิจิทัล

ทิศทางภาคแรงงานยุโรป-สหรัฐ หุ่นยนต์จะรองรับงานกว่า 20ล้านตำแหน่งในปี2573

 

งานในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติภายในปี 2573 ที่มา : Statista เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สัญชาติเยอรมันที่เชี่ยวชาญให้ข้อมูลเชิงลึกทางสถิติ และรายงานด้านข้อมูลตลาดและผู้บริโภค

กรณีศึกษาของยุโรป

          สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในผู้นำการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลที่สำคัญ โดยได้วางแผนพัฒนาแนวทางการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ตั้งเป้าให้สัมฤทธิ์ผลในปี 2573 มีเป้าหมายสำคัญ เช่น

(1) ให้ผู้ใหญ่อย่างน้อย 80% มีทักษะด้านดิจิทัลขั้นพื้นฐาน และควรมีการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT อย่างน้อย 20 ล้านรายในสหภาพยุโรป

(2) มีเป้าหมายให้ 75% ของบริษัทในยุโรปใช้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัล อย่างเช่น Cloud การนำ big data รวมถึง AI มาใช้ และเพิ่มจำนวนบริษัทสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าสูง

(3) SMEs มากกว่า 90% ควรมีศักยภาพด้านดิจิทัลในระดับพื้นฐาน

(4) เปิดงานบริการภาครัฐที่สำคัญผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงประวัติการรักษาของตนเองได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และ

(5) ประชาชน 80% ควรใช้ระบบการระบุตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ รัฐได้จัดตั้งโครงการ Digital Europe ในช่วงปี 2564-2570 ซึ่งใช้งบประมาณ 7,600 ล้านยูโร เพื่อลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง

ทิศทางภาคแรงงานยุโรป-สหรัฐ หุ่นยนต์จะรองรับงานกว่า 20ล้านตำแหน่งในปี2573

   คะแนนด้านทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานในปี 2564 ของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป โดยเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และไอร์แลนด์มีคะแนนด้านทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานสูงสุด (70-79 คะแนน) ขณะที่โรมาเนีย บัลแกเรีย และโปแลนด์มีคะแนนด้านทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานน้อยที่สุด (28-43 คะแนน) ที่มา : World Economic Forum

 

งานที่ใช้ทักษะต่ำ (low skill) ในยุโรปจะใช้ระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ในไม่ช้า โดยข้อมูลจาก World Economic Forum พบว่า ในปี 2564 ชาวยุโรป 54% ที่มีอายุ 16-74 ปี มีความสามารถด้านดิจิทัลขั้นพื้นฐาน[1] ที่สามารถจะปรับให้สอดรับกับงานซึ่งต้องใช้ทักษะด้าน ICT 1.67 ล้านตำแหน่งได้ภายในปี 2568 ทั้งนี้ ยุโรปมีเป้าหมายให้พลเมืองกลุ่มดังกล่าว 80% ขึ้นไป มีทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานภายในปี 2573

 

จากกรณีศึกษานี้ของยุโรป อาจสรุปได้ว่าการปฏิวัติระบบการทำงาน ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียงานเสมอไป แต่เป็นการนำเสนอโอกาสในการยกระดับทักษะตามเป้าหมาย ยกเว้นประชากรที่ขาดโอกาสยกระดับทักษะที่อาจตกขบวน และมีความเสี่ยงที่จะว่างงาน ประเด็นที่ต้องติดตามคือรัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือประชากรกลุ่มนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการทำงานในอนาคต

การพัฒนาทักษะแรงงานอพยพในยุโรป

          ผู้ขาดโอกาสทางสังคม เช่น ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการเปลี่ยนแปลงการทำงาน ซึ่งควรได้รับการพัฒนาทักษะด้วย อย่างไรก็ดี บางประเทศได้ให้ความช่วยเหลือกับคนกลุ่มนี้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น รัฐบาลเยอรมันได้มีโครงการอบรมกลุ่มผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง

โดยเฉพาะเรื่องภาษาและความเชี่ยวชาญในการทำงาน ขณะที่กลุ่มที่มีการศึกษามีจำนวนไม่มาก โดยการอบรมมีทั้งการสอนทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติที่หลายหลายตั้งแต่หลักสูตรสอนภาษา ช่างโลหะ ช่างไฟฟ้า ไปจนถึงผู้ช่วยพยาบาลโดยเฉพาะกลุ่มที่อพยพเข้าไปยังยุโรป

ที่มาภาพ : The New Humanitarian I Refugee Apprentice: Germany Offers Skills Training to Newcomers

ทิศทางภาคแรงงานยุโรป-สหรัฐ หุ่นยนต์จะรองรับงานกว่า 20ล้านตำแหน่งในปี2573

          ปัจจุบันจึงมีทั้งภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะด้าน ICT แก่ชาวยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ Konexio และ Grand Ecole du Numérique[2] ที่มุ่งเพิ่มทักษะให้ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ เพื่อจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมในอนาคต

กรณีศึกษาของสหรัฐอเมริกา

          แม้สหรัฐอเมริกาจะมีการวางนโยบายดิจิทัล และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐได้ทุกที่ทุกเวลาบนอุปกรณ์ใดก็ได้ มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในด้านวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยกระดับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

แต่สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (U.S.Bureau of Labor Statistics) คาดว่าในช่วงปี 2564-2574 จะมีงานที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ โดยกลุ่มอาชีพสนับสนุนการบริหารและงานในสำนักงานจะถูกลดการจ้างงานลงมากที่สุด เพราะมีการใช้ซอฟต์แวร์ระบบอัตโนมัติของงานธุรการและผู้ช่วยเสมือนที่เป็น AI มากขึ้น

รองลงมาคือกลุ่มงานเสมียนสำนักงานและตัวแทนฝ่ายบริการลูกค้า ฝ่ายขาย และงานในภาคการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาช่วยในการผลิต

ทิศทางภาคแรงงานยุโรป-สหรัฐ หุ่นยนต์จะรองรับงานกว่า 20ล้านตำแหน่งในปี2573

อย่างไรก็ดี จะมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในภาคบริการมาชดเชยภาคการผลิตสินค้าที่ลดลง คาดว่าอาชีพที่ให้บริการด้านสุขภาพ หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลจะอยู่ในกลุ่มที่มีการจ้างงานเติบโตเร็วที่สุดเนื่องจากประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย นอกจากนี้ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ข้อมูล และพลังงานหมุนเวียน ก็จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย

 

ปรับทักษะแรงงานด้วยการศึกษา

          จากข้อมูลการสํารวจ O*NET[3] ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ทิศทางตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้มีการพัฒนาทักษะดิจิทัลมากขึ้นในแต่ละงานอาชีพ โดยมีแรงงานทักษะสูงและปานกลางมากกว่า 100 ล้านคน เหลือความต้องการแรงงานทักษะต่ำประมาณ 30 ล้านคน และจากข้อมูลของ OECD ในปี 2562

แสดงให้เห็นว่า มีผู้ที่ทำงานด้านไอที และดิจิทัลมากขึ้น โดยโครงสร้างตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีงานที่ใช้ทักษะดิจิทัลขั้นสูง 33% ขั้นกลาง 35% และขั้นต่ำ 18% โดยมีกลุ่มที่ไม่มีทักษะเลยเพียง 13%

สอดคล้องกับรายงานจาก Labour 2030 Bain ที่ประเมินว่า ในสิ้นปี 2563 ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานไปประมาณ 20-25% ซึ่งจะมีผลกระทบมากต่อพนักงานที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ การลงทุนทางการศึกษาและการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มทักษะใหม่

จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรองรับความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐอเมริกา และรักษาคุณภาพชีวิตของแรงงานจำนวนมาก ภาครัฐและเอกชนจึงร่วมมือกันพัฒนาแรงงานทั้งในด้านการยกระดับทักษะเดิม (upskill) และการฝึกทักษะใหม่ (reskill)

ทิศทางภาคแรงงานยุโรป-สหรัฐ หุ่นยนต์จะรองรับงานกว่า 20ล้านตำแหน่งในปี2573

        ตัวอย่างในภาคสถาบันการศึกษา วิทยาลัยชุมชนและมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับบริษัทใหญ่ เช่น Amazon และ Google จัดโปรแกรมการศึกษาระดับปริญญาที่ยืดหยุ่น มีใบรับรอง รวมถึงค่ายฝึกอบรม บางบริษัท เช่น Starbucks ให้เงินค่าเล่าเรียนแก่พนักงานเพื่อยกระดับทักษะ โดยนายจ้างในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับปริญญาแบบดั้งเดิมน้อยลง และหันมาสนใจการฝึกอบรมภายในองค์กรมากขึ้น

 

          ขณะที่การเรียนรู้ออนไลน์ก็เติบโตมากขึ้นเช่นกัน โดยองค์กรต่าง ๆ ได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้สนใจใช้เรียนรู้ด้วยตัวเอง อาทิ The Adult Literacy XPRIZE เป็นแอปพลิเคชันเพิ่มทักษะการอ่านออกเขียนได้ในหมู่ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ Digital Promise เป็นแอปพลิเคชันช่วยฝึกทักษะด้านดิจิทัลให้ผู้ที่กำลังหางานทำ

เช่นเดียวกับ RISE Up เป็นโปรแกรมการฝึกอบรมสำหรับผู้หางานครั้งแรกและพนักงานระดับเริ่มต้น ส่วน Skillist เป็นแพลตฟอร์มการสมัครงานที่เชื่อมโยงผู้หางานกับนายจ้างโดยมุ่งเน้นไปที่ทักษะมากกว่าข้อมูลส่วนตัว

 

          ในเชิงนโยบาย รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศนโยบายพัฒนาความเท่าเทียมทางดิจิทัลสำหรับนักเรียนทุกคนทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยเตรียมประชากรรุ่นต่อไปให้พร้อมรับบริบทโลกยุคดิจิทัล โดยออกกฎหมาย Digital Equity Act และกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ารวม 2,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางดิจิทัลที่กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19

 

          บทสรุป การปรับทักษะดิจิทัลของแรงงานเป็นโจทย์สำคัญในการเปลี่ยนผ่านโลกไปสู่ยุค 4.0 ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ได้ปรับกระบวนทัศน์เพื่อรองรับบริบทโลกใหม่แล้ว

 

          การพัฒนาทักษะดิจิทัลของแรงงาน เป็นโจทย์สำคัญของทุกประเทศในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจ 4.0 ที่การทำงานต้องมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งผู้ประกอบการ แรงงาน รวมไปถึงภาครัฐจึงจำเป็นต้องปรับตัว เราได้เห็นการปรับกระบวนทัศน์เพื่อรองรับบริบทโลกใหม่อย่างชัดเจนแล้วทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และกำลังจะขยายไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของโลกในอนาคตอันใกล้นี้

[1]  ทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐาน อธิบายโดย Eurostat คือ ทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน รวมถึงการส่งและรับอีเมลและการใช้โซเชียลมีเดีย ทักษะการสร้างเนื้อหาดิจิทัล รวมถึงการใช้ซอฟต์แวร์ประมวลผลคำ แก้ไขรูปภาพ วิดีโอ หรือไฟล์เสียง ทักษะด้านความปลอดภัยเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ และทักษะการแก้ปัญหา ได้แก่ การขายออนไลน์ บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต และการติดตั้งซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชัน และอื่น ๆ 

[2]  Grand Ecole du Numérique ตั้งโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการเงินของฝรั่งเศส และมีผู้นำธุรกิจและภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุน เป็นโปรแกรมฝึกอบรมทักษะ ICT ที่หลากหลาย มุ่งช่วยกลุ่มประชากรที่เปราะบางโดยตรง เพื่อยกระดับทักษะและเพิ่มโอกาสในการเสริมศักยภาพให้กับแรงงานทักษะต่ำ

[3] ระบบ O*NET เป็นของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ โดยได้ฐานข้อมูลมาจากการสํารวจพนักงานทุกอาชีพในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในด้านความรู้ ทักษะ ความสามารถที่แต่ละสายอาชีพต้องการ และความสามารถในการทำงาน