โรดแม็ป5ปีสอวช.ใช้นวัตกรรมยกระดับประเทศ

07 มี.ค. 2566 | 08:03 น.

4 เป้าหมายสอวช.ยกระดับประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่สังคม Net Zero ยกฐานะกลุ่มฐานราก และปรับกระบวนการศึกษาของประเทศ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวในการเสวนา เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนไทย-เปลี่ยนโลก ในการสัมมนาอนาคตประเทศไทย:นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ จัดโดยสปริงนิวส์ และสื่อเครือเนชั่น ว่า ประเทศไทยในอดีตเมื่อ 30-40 ปีก่อนเศรษฐกิจเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่ปัจจุบันไม่สามารถโตแบบเดิมได้ เพราะความได้เปรียบทางการแข่งขันเดิมหมดไปแล้ว

การที่ไทยจะไปต่อต้องเก็บเกี่ยวผลการลงทุนที่ทำมา 30-40 ปี ที่ได้ใช้แรงงานใช้ทรัพยากรธรรมชาติเข้าแลก ระหว่างนั้นได้สะสมทุนทางปัญญาไว้ไม่น้อย ทั้งที่สะสมในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน หรือสั่งสมเป็นองค์ความรู้ในบุคลากรต่าง ๆ ที่ได้รับจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยต่อยอดทุนทางปัญญาเหล่านั้นมาสร้างเป็นนวัตกรรม เพื่อใช้ยกระดับประเทศ

โรดแม็ป5ปีสอวช.ใช้นวัตกรรมยกระดับประเทศ

 "ปัจจุบันประเทศไทยมีจีดีพีที่ประมาณ 17 ล้านล้านบาท การจะออกจากประเทศรายได้ปานกลางนั้น ประชากรต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีที่ 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อคำนวณกลับเป็นเงินบาท คือต้องมีจีดีพีที่ประมาณ 28 ล้านล้านบาท หรือต้องทำเพิ่มอีก 11 ล้านล้านบาทขึ้นไป ซึ่งจะทำได้ต้องใช้นวัตกรรม"

ดร.กิติพงค์กล่าวต่อว่า สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กำหนดเป้าหมาย 4 ด้านเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหากทำได้จะเป็นจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนยกระดับไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ประกอบด้วย

โรดแม็ป5ปีสอวช.ใช้นวัตกรรมยกระดับประเทศ

1. การขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง นับสนุนการสร้างรายได้ใหม่จากนวัตกรรม อาทิ สนับสนุนการก่อตั้งกิจการใหม่ด้านเทคโนโลยี (Tech Company) ตั้งเป้าให้เกิดธุรกิจใหม่(สตาร์ท อัพ) 1,000 กิจการ ซึ่งอาจมีรายได้ 500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท 5,000 ล้านบาท หรือาจถึง 10,000 ล้านบาท ถ้าเฉลี่ยที่ 1,000 ล้านบาท ก็จะสร้างรายได้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 10 % เพื่อไปสู่เป้าหมาย 

รวมทั้งจะส่งเสริมการใช้นวัตกรรมสำหรับภาคเกษตร ให้เกิดสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ การเกษตรแม่นยำ หรือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ขยับรายได้เพิ่มขึ้น จนถึงกลุ่มประชากรฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนส่วนใหญ่ให้สูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

2.การขับเคลื่อนสังคมรักษ์โลกสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมปรับตัวรับ ในกรณีของไทยอาจเริ่มจากจังหวัดที่ทำได้ง่ายก่อนเพื่อเป็นต้นแบบ ซึ่งสอวช.เริ่มแล้วที่สระบุรี ระยอง โดยจับมือทำงานกับภาคอุตสาหกรรมทำแผนปฎิบัติการสู่ Net Zero

3.การขับเคลื่อนยกฐานะประชากรฐานราก นอกจากเรื่องของรายได้แล้ว ยังต้องทำเรื่องของการศึกษา สุขภาพ การอบรมฟื้นฟูหรือยกระดับพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อให้กำลังแรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน 

4.การขับเคลื่อนสร้างกำลังแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต ซึ่งต้องทำทั้งรูปแบบการผลิต การพัฒนากำลังคนให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันการศึกษาตามแบบ 4 ปีจบแล้วไปเข้าตลาดแรงงานนั้นอาจไม่สอดคล้อง ไม่ทันการเปลี่ยนแปลง สอวช.จับมือมหาวิทยาลัยเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน จากเดิมเป็นงานของแต่ละมหาวิทยาลัย ทดลองทำแซนด์บ็อกซ์การศึกษาแนวใหม่ โดยจับมือมหาวิทยาลัย 8-10 แห่งมาทำงานร่วมกัน

หลักสูตรการศึกษา อาจเริ่มจากเรียนปี 1 จนครบวิชาพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับการทำงานเบื้องต้น เมื่อได้วุฒิบัตรก็สามารถออกไปทำงานตามโรงงานต่าง ๆ ถ้าทำได้ดีมีรายได้สามารถอยู่ต่อไปได้เลย หรือทำงานไป 3-4 ปี อยากกลับมาเรียนต่อเพิ่มทักษะใหม่ ก็กลับมาเรียนเพิ่ม กลับไปกลับมาได้โดยสามารถสะสมเกรดได้ เมื่อได้ครบก็สามารถจบปริญญาได้ควบคู่กับการทำงาน ทำให้การเรียนตอบโจทย์ความต้องการเรื่องงานได้ดียิ่งขึ้น 

ขณะเดียวกันสอวช.ได้ทำแพลตฟอร์มการพัฒนาคน ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยบริษัทเอกชนที่ส่งพนักงานมาฝึกอบรม เพื่อช่วยยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน หากครบตามข้อกำหนด สามารถนำค่าใช้จ่ายไปขอลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น

ผอ.สอวช.กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศได้ใช้งบประมาณไปเพื่อการวิจัยจำนวนมาก แต่ลำพังงานวิจัยโดยตัวมันเองก็จะอยู่ในแวดวงนักวิชาการ สถาบันการศึกษา ต้องแปลงงานวิจัยให้เป็นนวัตกรรมที่สามารถเข้าถึงคนหมู่มากให้ได้ ยิ่งกระจายไปถึงกลุ่มคนฐานรากได้มาก ก็จะยิ่งช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศได้เร็วยิ่งขึ้น การตั้งโจทย์การวิจัยจึงควรเริ่มจากพื้นที่จากผู้ใช้ ว่ามีปัญหาอะไร มีทรัพยากรอะไร เพื่อจะได้ทำงานวิจัยเพื่อไปแก้ปัยหาได้ตรงจุดและเป็นไปได้