สอวช.เชื่อพลังเครือข่ายคลังสมองวิทยาศาสตร์เป็นกลไกแก้โจทย์ยากของประเทศ

05 ส.ค. 2565 | 13:00 น.

สอวช.เชื่อพลังเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ เป็นกลไกแก้โจทย์ยากของประเทศให้ไปสู่เป้าหมายได้ โดยมีแพลตฟอร์มผลักดันด้านนโยบายช่วยสนับสนุน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “ธัชวิทย์” วิทยสถานเพื่อการพัฒนาประเทศด้านวิทยาศาสตร์” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ 


โดย ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงมิติการสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ (Frontline Think Tank) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการดำเนินงานเพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี ฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงเป้าหมายในการเริ่มทำ “ธัชวิทย์” ที่เห็นว่าต้องมีบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีสติปัญญา มีประสบการณ์ที่หลากหลาย รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มีวิธีคิดสมัยใหม่ มารวมตัวกันและดึงเอาศักยภาพ ความรู้ ความสามารถของคนเหล่านี้มาช่วยในการคิดแก้ไขปัญหา ขับเคลื่อน และสร้างโอกาสให้กับประเทศ โดยเครือข่าย Think Tank มีบทบาทสำคัญ 2 เรื่อง คือ 

                                สอวช.เชื่อพลังเครือข่ายคลังสมองวิทยาศาสตร์เป็นกลไกแก้โจทย์ยากของประเทศ
1. บทบาทในการช่วยคิดเชิงนโยบายสาธารณะ ว่าจะสามารถพัฒนาประเทศ ให้เดินต่อไปในทิศทางใด ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สอวช. สามารถนำแนวคิดนั้นมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ 

2. บทบาทในการชี้นำสังคม หรือ Public Advocacy เนื่องจากคนกลุ่มนี้ได้รับการยอมรับจากสังคม สามารถช่วยชี้ทิศทางที่เกิดประโยชน์กับสังคม เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้


ในส่วนกลไกการทำงานของ Frontline Think Tank ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า สวอช. ได้คิดแพลตฟอร์มขึ้นมา 2 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย แพลตฟอร์ม Policy Innovation Platform for the Better Future (PIP) หรือ แพลตฟอร์มนวัตกรรมนโยบายเพื่ออนาคตไทย เป็น Digital Open Platform ที่เปิดโอกาสให้คนที่มีไอเดียมาร่วมเสนอความเห็นว่า ประเทศไทยควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในทิศทางใด มีกลไกหรือนโยบายอะไรที่ควรทำ 


จากนั้นจะมีทีมงาน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้านมาร่วมคัดเลือกไอเดียที่สามารถต่อยอดไปเป็นนโยบายได้ โดยนโยบายที่น่าสนใจนอกจากจะได้รับรางวัลแล้ว จะถูกนำไปขับเคลื่อนจริง และมีโอกาสได้รับการผลักดันให้เป็นนโยบายของประเทศในอนาคต


อีกส่วนหนึ่งคือแพลตฟอร์ม Thailand Higher Education and Innovation Policy Accelerator (THIPA) ที่จะเป็นกลไกการพัฒนานโยบายและข้อริเริ่มใหม่ โดย THIPA จะทำงานคล้ายกับสตาร์ทอัพ เมื่อมีไอเดียจากกระทรวง อว. หรือกระทรวงอื่นๆ จะถูกนำมาเป็นต้นแบบนโยบาย สามารถนำมาขึ้นเป็นต้นแบบบนแพลตฟอร์มนี้ได้ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองนำไปปฏิบัติ และเก็บข้อมูลต่อว่านโยบายนั้นสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่ 


ถ้าได้ก็จะนำเข้าสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อนำไปใช้จริงต่อไป นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ร่วมกับสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดโครงการอบรมหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science Technology and Innovation Policy Design Training Program: STIP) ขึ้นมา เพื่อพัฒนานักนโยบายรุ่นใหม่ ที่ยังขาดประสบการณ์ ให้ทดลองคิดนโยบายจริงขึ้นมา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ มาเป็นที่ปรึกษาด้วย

                             สอวช.เชื่อพลังเครือข่ายคลังสมองวิทยาศาสตร์เป็นกลไกแก้โจทย์ยากของประเทศ
สำหรับตัวอย่างประเด็นที่ Frontline Think Tank จะขับเคลื่อน ดร. กิติพงค์ กล่าวถึง โจทย์สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งการจะออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ต้องขยับจีดีพีของประเทศให้สูงขึ้น จากที่ในปัจจุบัน มีจีดีพีอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท ต้องให้ขึ้นไปถึง 28 ล้านล้านบาท ซึ่งความหวังที่จะไปสู่เป้าหมายได้

 

ดร. กิติพงค์ มองว่าคือ การผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprises) และต้องอาศัยคนที่รู้นวัตกรรมหรือการจัดการนวัตกรรมมาช่วยคิด อีกส่วนหนึ่งคือสภานโยบายฯ ได้ผลักดันให้เกิด University Holding Company เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถทำธุรกิจนวัตกรรมได้


นอกจากนี้เรายังมีอุทยานวิทยาศาสตร์อยู่ทั่วประเทศ ที่มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยอยู่ 30-40 แห่ง และแต่ละแห่งก็มีสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจนวัตกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก หากสามารถผลิตและผลักดันกลุ่มเหล่านี้ต่อไปได้ ก็เชื่อว่าภายใน 5 ปี จะสามารถผลิตผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมไปสู่เป้าหมาย 1,000 รายได้ แต่ยังมีโจทย์ที่ท้าทายคือ จะยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการให้ไปสู่ 1,000 ล้านบาทได้อย่างไร ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีคนคิดเชิงนวัตกรรม จากทั้ง ธัชชา และธัชวิทย์ มาร่วมด้วยช่วยกัน และใช้พลังของเครือข่ายมาร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศให้สำเร็จได้


ด้านโจทย์สำคัญที่ ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ยึดเป็นนโยบายสำคัญ คือเรื่อง Social mobility จะทำอย่างไรที่จะยกระดับคนฐานรากของไทยขึ้นมาได้ทั้งหมด เนื่องจากมองว่า การแก้ปัญหาความยากจนให้หมดไป ไม่สามารถทำได้ง่าย จึงต้องมองถึงการยกสถานะทางสังคมให้คนไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) ภายในปี 2065 จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องอาศัยนวัตกรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ซึ่งโจทย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เครือข่าย Think Tank จะต้องร่วมกันคิด หาแนวทางแก้ไข และ สอวช. จะเชื่อมโยงการทำงานต่อ ว่ารัฐบาลจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอย่างไร