เปิดร่าง พ.ร.ก.ป้องภัยไซเบอร์ ชวนเปิดบัญชีม้าปรับ 5 แสนคุก 5 ปี

18 ก.พ. 2566 | 06:17 น.

ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ก.คุมภัยไซเบอร์ เตรียมประกาศใช้เร็ว ๆ นี้ ให้อำนาจผู้เสียหาย-แบงก์อายัดบัญชี ระงับธุรกรรมต้องสงสัยได้ทันทีเป็นการชั่วคราว เพิ่มโทษชวนเปิดบัญชีม้าคุก 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท

เป็นความเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชนคนเดินถนน เมื่อแก๊งมิจฉาชีพงัดสารพัดลูกไม้ออกล่อลวงเหยื่อทางออนไลน์ จนภัยไซเบอร์ระบาดทั่วทุกหัวระแหง เพื่อหลอกให้โอนเงินทั้งทางโทรศัพท์หรือช่องทางออนไลน์อื่น ๆ สู่บัญชีม้าเป็นที่รับโอน จนมีคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกองอยู่ในระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 2 แสนคดี

 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 14 ก.พ.2566 มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ..... ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) ตรวจพิจารณาแล้ว เพื่อเตรียมประกาศบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คือ การอายัดบัญชีและธุรกรรม ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือบัญชีม้า ให้รวดเร็วฉับไวทันท่วงทีครบวงจร

ตั้งแต่การจะระบุ “บัญชีม้า” ให้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล เกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่น่าสงสัย ระหว่างสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบการที่เก็บข้อมูลบัญชีเงินฝากหรือธุรกรรม กับผู้ประกอบการโทรศัพท์ ผ่านระบบกลาง หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เห็นชอบร่วมกัน

กรณีจำเป็นต้องทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน เนื่องจากพบเหตุอันควรสงสัย ว่ามีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ให้สตช. ดีเอสไอ หรือปปง. มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และจัดส่งข้อมูลดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด

กรณีที่สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุต้องสงสัย ว่าอาจมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทันที เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 7 วัน และแจ้งสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไปทราบ

กรณีผู้เสียหายแจ้งไปยังสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจ เกี่ยวกับบัญชีที่มีความเชื่อมโยงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทราบ และระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใน 72 ชั่วโมง

ร่างพ.ร.ก.นี้ยังมีบทกำหนดโทษ โดยมาตรา 9 ระบุ ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าว เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการกระทำความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,00-500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหาโฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งได้ลงทะเบียนใช้งานซิมการ์ดแล้ว มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,00-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ