อีคอมเมิร์ซปี 66 เดือด "ฟู้ดเดลิเวอรี-โซเชียล"เปิดศึกชน"ลาซาด้า-ช้อปปี้"

05 พ.ย. 2565 | 04:55 น.

กูรู ชี้เทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 66 เดือด รับตลาดกลับมาเติบโตอีกรอบ ระบุสงครามอีมาร์เก็ตเพลสจบ แต่สงครามอีคอมเมิร์ซไม่จบ จับตาแอป “ฟู้ดเดลิเวอรี-โซเชียลมีเดีย” รุกหนักขยายบริการเจาะอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ยักษ์อีมาร์เก็ตเพลส “ลาซาด้า-ช้อปปี้” หยุดสาดเงิน เข้าสู่ยุคทำกำไร

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าแนวโน้มอีคอมเมิร์ซปี 2566 จะกลับมาเติบโตอีกรอบ หลังจากปีนี้คาดว่าตลาดจะไม่มีการเติบโต และติดลบ 6% ในปี 2563 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตลาดปี 2566 กลับมาเติบโต มาจากสถานการณ์โควิด คลี่คลาย และการเปิดประเทศทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มฟื้นกลับมา โดยที่ผ่านมารายได้มากกว่าครึ่งของอีคอมเมิร์ซมาจากธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้คาดว่าภาพรวมจะมีตัวเลขการเติบโตราว 10-20%

อีคอมเมิร์ซปี 66 เดือด "ฟู้ดเดลิเวอรี-โซเชียล"เปิดศึกชน"ลาซาด้า-ช้อปปี้"

ส่วนสถานการณ์การแข่งขันนั้น แม้ว่าสงครามการแข่งขันของผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ ทั้งลาซาด้า และช้อปปี้ จะหยุดสาดเงินการตลาดสร้างฐานผู้ใช้บริการ เพื่อเข้าสู่ยุคทำกำไรเต็มตัว อย่างไรก็ตามสงครามอีคอมเมิร์ซยังไม่จบ โดยจะเห็นการรุกหนักบริการอีคอมเมิร์ซ ของผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ทั้ง เฟซบุ๊ก TikTok และ LINE ผ่าน LINE my Shop

เช่นเดียวกับกลุ่มฟู้ดเดลิเวอรี  อาทิ ไลน์แมน ที่เพิ่งได้เม็ดเงินระดมทุนเกือบหมื่นล้านบาท หรือ แกร็บ ที่มีเป้าหมายมุ่งไปสู่ซูเปอร์แอป รวมไปถึงฟู้ดแพนด้า โรบินฮู้ด แอร์เอเชีย หรือกลุ่มทรู ผู้ให้บริการเหล่านี้จะขยายบริการไปมากกว่าฟู้ด โดยจะเข้ามาสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น ทั้งบริการสั่งซื้อของสด หรือบริการรับส่งคนไปให้บริการนวด หรือ ทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น

 

ส่วนผู้ค้าออนไลน์นั้นปี 2565 จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ภายหลังลาซาด้า ช้อปปี้ ลดการใช้เม็ดเงินจัดโปรโมชัน ซึ่งแต่ละร้านจะต้องเป็นผู้ลงทุนจัดแคมเปญส่งเสริมการขายเอง ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากผู้ค้าจีน ที่เข้ามาลงทุนจัดตั้งคลังสินค้า และขายสินค้าเอง ส่วนพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นภาพรวมการใช้จ่ายจะเท่าเดิม แต่จะสัดส่วนมีการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ แซงหน้าการใช้จ่ายช่องทางออฟไลน์

ด้านนายวีระพงศ์ โก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่าผลการสำรวจ Transforming Southeast Asia: From Discovery to Delivery: พลิกโฉมการช้อปปิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการค้นหาสู่การจัดส่ง” ที่ลาซาด้า จัดทำขึ้นร่วมกับ Synagie และ Group M ระบุว่า แม้จะก้าวเข้าสู่ยุคหลังโควิด แต่คนไทยกว่า 74% ยังคงซื้อสินค้าออนไลน์ต่อเนื่องอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และ 25% ซื้อหลายครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากชอบความสะดวกสบายจนทำให้ใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้มองว่าโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านอีคอมเมิร์ซที่ยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมาก โดยจากสถิติ คนไทยเข้าถึงอีคอมเมิร์ซมากถึง 56% ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 61.8% ในปี 2568 ทำให้แบรนด์และผู้ประกอบการจำนวนมากได้ปรับตัวและเข้ามาสร้างธุรกิจในช่องทางนี้ เห็นได้จากในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ที่มีจำนวนร้านค้าและผู้ขายบนลาซาด้าเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 41% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ผู้ขายมีต่อลาซาด้าในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีการพัฒนารอบด้านอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อมอบประสบการณ์ช้อปปิ้งที่แตกต่างและราบรื่นที่สุดให้แบรนด์ ผู้ขาย และนักช้อป

 

ขณะที่ รายงานประจำปี SYNC Southeast Asia โดย Meta และ เบน แอนด์ คอมพานี เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลและอนาคตของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค คาดการณ์ว่าปี 2565 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 370 ล้านคน ในขณะที่ประชากรไทยกว่า 72% สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ภายในปีนี้ การค้าดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยยังคงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคต้องการประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์ ออฟไลน์ และประสบการณ์อื่นๆ ได้อย่างลื่นไหลกว่าเคย โดยผู้บริโภคชาวไทยช้อปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉลี่ย 16.4% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเมื่อเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 15.3%

 

นอกจากนี้ช่องทางอีคอมเมิร์ซทางเลือกอย่างการส่งข้อความเชิงธุรกิจและการช้อปผ่านวิดีโอไลฟ์ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในไทย หรือคิดเป็นกว่า 25% ของเม็ดเงินที่ใช้จ่ายทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่าโซเชียลมีเดียสร้างการค้นพบผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเป็นการค้นพบผ่านรูปภาพ 15% , วิดีโอ 26% และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น การส่งข้อความ เป็นต้น 9%