"TRUE-DTAC” ควบรวมธุรกิจ วัดใจ บอร์ด กสทช.สรุปดีลแสนล้านไปทางไหน

11 ต.ค. 2565 | 21:40 น.

“TRUE-DTAC” ควบรวมธุรกิจ วัดใจบอรด์ กสทช. ประชุมวันนี้ควบรวมธุรกิจที่ยืดเยื้อกว่า 9 เดือน บทสรุปออกไปแนวทางไหน

วันนี้ 12 ตุลาคม 2565 วาระประชุมคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีวาระเรื่องเพื่อพิจารณา 5.1 การรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC  (วาระต่อเนื่อง) (ลับ) โดยจะเริ่มประชุมเวลา 09.30 น. เป็นต้นไป

 

ถูกบีบรอบด้าน

ก่อนประชุมวาระต่อเนื่อง TRUE-DTAC ในวันนี้ บอร์ด กสทช. ถูกกดดันหลายด่าน ด่านแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา  สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพฯ ยื่นหนังสือต่อประธาน กสทช. ให้ยึดมั่นต่อหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน  จากกรณีที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอควบรวมธุรกิจต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2564 และ กสทช. ได้เลื่อนการพิจารณาคำขอควบรวมของทั้งสองบริษัท เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจดังกล่าว โดยคาดว่าจะมีวาระในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวม ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 นั้น

 

สภาองค์กรของผู้บริโภควอนยึดมั่นต่อหน้าที่

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายศูนย์สิทธิผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้ยึดมั่นต่อหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธานฯ กสทช. และ ศ.พิรงรอง รามสูตร กรรมการ กสทช. เป็นผู้รับจดหมาย นอกจากนี้ยังได้มอบจดหมายให้กำลังใจแก่ ศ.พิรงรอง และกรรมการเสียงข้างน้อย ที่ยืนหยัดทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค

 

"TRUE-DTAC" มาแพ็คคู่ไล่บี้บอร์ดรีบพิจารณา

ถัดจากนั้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ทาง TRUE และ DTAC เปิดเกมกดดัน กสทช. ด้วยการเสนอเอกสารเพิ่มเติมให้บอร์ด กสทช.เร่งพิจารณาควบรวมธุรกิจ เพราะแผนควบรวมได้ผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดและผู้ถือหุ้น และ ทั้ง 2 บริษัทได้ยื่นขอรวมธุรกิจ มาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 บัดนี้เป็นเวลากว่า 9 เดือน

 

โดย นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยว่า แต่ กสทช.ก็ยังไม่พิจารณา จึงมาขอความเห็นใจ เพราะวันนี้ (12 ต.ค) จะมีการประชุมคณะกรรมการ กสทช. จึงอยากให้นำเรื่องนี้มาพิจารณา ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จะเกิดความเสีย ต่อผู้บริโภค ลูกค้าทรูและดีแทค ที่จะได้ใช้ประโยชน์โครงข่ายร่วมกัน ทั้งนี้หากคณะกรรมการ กสทช.เห็นว่า การรวมธุรกิจกระทบต่อผู้บริโภคก็ให้บอร์ดกสทช.ออกมาตรการมาบังคับใช้ได้ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทพร้อมปฏิบัติ

 

TRUE-DTAC

เหตุผลที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค คัดค้านเนื่องจากเกิดการผูกขาดธุรกิจมือถือ และ ผู้บริโภคจะไม่ได้รับประโยชน์จากอัตราค่าบริการ

 

ขณะที่ทาง TRUE-DTAC ให้เหตุผลว่า ควบรวมธุรกิจจะส่งผลดีต่อธุรกิจ และ ผู้บริโภค  เนื่องจากเครือข่ายครอบคลุมกว่า  49,800 สถานีฐาน เครือข่ายเร็วแรง ครบทุกคลื่น ความถี่ ใช้ได้กับมือถือทุกรุ่น ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ 5G อย่างครอบคลุม  อีเซอร์วิส คอลเซ็นเตอร์กว่า 5,200 คนตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น

 

ส่วนทางด้านศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูตร กรรมการ กสทช. ระบุว่า จากที่ กสทช. ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ ทรู – ดีแทค ทำให้ทราบดีว่าการพิจารณานั้นเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพราะฉะนั้น กสทช. ก็ต้องทำงานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และหลักการเรื่องประโยชน์สาธารณะรวมถึงการอย่างเสรีและเป็นธรรมก็เป็นหลักสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

 

นอกจากนี้นี้ ศาสตราจารย์ พิรงรอง กล่าวอีกว่า ในวันนี้ (12 ตุลาคม) จะมีการนำวาระเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่างทรู – ดีแทค เข้าที่ประชุม แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลการพิจารณาจะออกเมื่อไร เนื่องจากต้องรอมติที่ประชุม รวมถึงต้องพูดคุยเรื่องรายละเอียดและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องด้วย

 

วันนี้บอร์ดจะมีบทสรุปดีล TRUE-DTAC เป็นอย่างไรน่าติดตามยิ่ง