ChatGPT ฉลาดลํ้า! จุดเปลี่ยน ‘AI’ พลิกโลก

16 ม.ค. 2566 | 07:14 น.

เทคโนโลยี AI เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุค 90 แล้ว แต่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับ AI ผ่านการใช้สมาร์ทโฟน ทั้ง Apple ที่มีผู้ช่วยส่วนตัวอย่าง SIRI หรือ กูเกิล ที่มี Google Assistant ที่สามารถสนทนา หรือรับคำสั่งด้วยเสียง กับผู้ใช้งานได้

อย่างไรก็ตามผู้ช่วยเหล่านี้สามารถตอบคำถามเหมือนหุ่นยนต์ไม่เป็นธรรมชาติ และตอบได้เฉพาะคำถามพื้นฐานเท่านั้น  ล่าสุดการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของโลกก้าวลํ้าไปอีกขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี AI ที่มาเปลี่ยนแปลงโลก เมื่อ OpenAI ได้เปิดตัวแชตบอท อัจฉิรยะ ChatGPT มาเขย่าวงการเทคโนโลยีโลก

 

โดยกูรูวงการถึงกับกล่าวว่า การเปิดตัวเทคโนโลยี ChatGPT เทียบเท่ากับการ Apple เปิดตัว iPhone เมื่อปี 2550 ซึ่ง iPhone เข้ามาเปลี่ยน แปลงโทรศัพท์มือถือ ที่ใช้โทรเข้าโทรออก หรือส่งข้อความ สู่สมาร์ทโฟนที่มีความฉลาด เกิดแอปพลิเคชันต่างๆ  ขึ้นมามากมาย และเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน โดยสิ้นเชิง

ChatGPT ฉลาดลํ้า! จุดเปลี่ยน ‘AI’ พลิกโลก

โดย ChatGPT เปิดตัวราวปลายเดือน พ.ย. ปีที่ผ่านมา เพียง 5 วัน มีคนทั่วโลกให้ความสนใจเข้ามาทดลองใช้งานทะลุ 1 ล้านคน และได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่วงการไอที กำลังเจรจาเข้าถือหุ้นใน OpenAI ผู้พัฒนาแชตบอทอัจฉริยะ ChatGPT ที่กำลังเปิดระดมทุนรอบใหม่ มูลค่ารวมกว่า 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 980,000 ล้านบาท

 

โดยไมโครซอฟท์ เตรียมเงินไว้ราว 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 340,000 ล้านบาท เข้าลงทุนใน OpenAI และต้องการนำฟีเจอร์ฉลาดลํ้าของ ChatGPT มาผนวกเข้ากับผลิตภัณฑ์หลักของไมโครซอฟท์ ทั้งไมโครซอฟท์ออฟฟิศ หรือ อีเมล์ Outlook รวมไปถึง เสิร์ซเอ็นจิ้น อย่าง Bing โดยเชื่อว่า ChatGPT จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ไมโครซอฟท์ สามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายสำคัญอย่างกูเกิลได้

 

ความสามารถของ ChatGPT คือการตอบโต้บทการสนทนากับมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ สามารถช่วยในการเขียนบทความ เขียนโค้ดโปรแกรม เขียนงานวิจัย แต่งเพลง บทกวีฯ และตอบสารพัดทุกคำถามในภาษาอังกฤษที่ป้อนให้ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการใช้ภาษาไทยยังพบความผิดพลาดไม่สมบูรณ์แบบ 100% ChatGPT ยอมรับข้อผิดพลาด ความไม่รู้ แย้งในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และปฏิเสธคำขอที่ไม่เหมาะสมได้ฉลาดสุดๆ

สำหรับประเทศไทยนั้นดัชนีชี้วัดความพร้อมด้าน AI ปี 2563 ระบุว่าไทยมีอันดับความพร้อมอยู่ลำดับที่ 60 เนื่องจากไม่มีนโยบาย หรือแผนปฎิบัติการ AI แห่งชาติ อย่างเป็นรูปธรรม แต่จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และการประยุกต์ใช้ AI ในประเทศที่ขยายตัวมากขึ้น เพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น ทำให้ล่าสุดได้มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติฯ ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรวมถึงสนับสนุนการ พัฒนาอุตสาหกรรมและการแข่งขันของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบของการพัฒนาแบบองค์รวม ที่เรียกว่า BCG Economy ซึ่งเป็น การพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติไปพร้อมๆ กัน ได้ แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

 

โดยจากการวิเคราะห์บริบทของประเทศไทยในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI พบว่ายังมีความท้าทายหลายประการที่เราต้องรีบ เตรียมการ อาทิ 1. การพัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านเทคโนโลยี AI เพื่อตอบรับความต้องการ ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนทั้งวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ทางข้อมูล รวมถึงบุคลากรในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง, 2. การเร่งเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีและการสร้าง Core Technology ของไทย, 3. การส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI ในภาคอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางในจุดที่สามารถยกระดับผลิตภาพการผลิตและบริการได้อย่างจริงจัง, 4. การพัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อให้เกิดระบบนิเวศของ AI ที่มีความครบถ้วน เกิดการ เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า ไปจนถึงปลายนํ้า และ 5. การพัฒนาและสร้างความตระหนักด้านจริยธรรม กฎหมาย และแนวทางที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างเหมาะสม