เปิดเมืองนวัตกรรม EECi พลิกฐานอุตสาหกรรมไทย สู่ New S Curve

18 พ.ย. 2565 | 09:32 น.

เปิด EECi ศูนย์กลางพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หนุนต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย New S Curve สร้างความเชื่อมั่นลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็น 1 ใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษที่อยู่ภาย ในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยเกิดวงจรใหม่ นำไปสู่การเจริญเติบโตแบบมีพลวัต (Dynamic Growth) และเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยสร้างความเชื่อมั่นในลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ว่ามีโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยี รวมถึงกำลังคน รองรับ

 

โดยล่าสุด EECi เตรียมพร้อมเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 และกิจกรรม SMC Open House ครั้งแรก กับการเปิดบ้านต้อนรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ในพื้นที่ EECi ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565

เปิดเมืองนวัตกรรม EECi พลิกฐานอุตสาหกรรมไทย สู่ New S Curve

EECi มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,500 ไร่ แบ่งเป็น 3 โซนหลัก โซนแรก จะเป็นโซนการศึกษา ปัจจุบันมีโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธีย์ (VISTEC) และโครงการปลูกป่าวังจันทร์รวมกันประมาณ 1,000 ไร่ ทั้งนี้จะเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

โซน 2 คือ Community Zone หรือโซนที่เป็นชุมชน พื้นที่นี้จะเป็นส่วนที่รองรับการใช้ชีวิตของคนภายในพื้นที่ EECi และชุมชนโดยรอบ มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ จะประกอบไปด้วยอาคารที่อยู่อาศัย โรงแรม โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์การค้าและนันทนาการ โดยจะมีการพัฒนาให้เป็น Smart City โดยกำหนด เป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองประหยัดพลังงานต้นแบบของเมืองไทย ที่เพียบพร้อมไปด้วยระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เอื้อต่อการเป็น Innovation Hub

และ โซนที่ 3 เป็นโซนนวัตกรรม หรือ อินโนเวชันโซน มีพื้นที่ราว 2,000 ไร่ คือ สำนัก งานใหญ่ของ EECi จะเป็นส่วนที่ทำเรื่องของ Translational Research และ Technology Localization โดยจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่ว่าจะเป็น โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี และโรงเรือน ฟีโนมิกส์ ของ BIOPOLIS (เมืองนวัตกรรมชีวภาพ) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ARIPOLIS (เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ), โครงสร้างพื้นฐานรองรับ SPACE INNOPOLIS (เมืองนวัตกรรมด้านการบิน และอวกาศ), ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC), เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับสูง ขนาด 3 GeV, รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้สอยร่วมกัน อาทิ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์ทดสอบ โรงงานผลิตชิ้นงานต้นแบบ สนามทดลองและทดสอบ เป็นต้น

 

ภารกิจสำคัญของ EECi คือการสร้างเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S- Curve) ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่นำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรเพื่อให้เกิดการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต โดยเม็ดเงินที่ EECi คิดค้นเทคโนโลยีจะต้องเกิดการร่วมลงทุนของภาคเอกชน 5 เท่า และเกิดผลประโยชน์ 200 เท่า วางเป้าหมายเงินลงทุนในพื้นที่นี้ไว้ 287,586 ล้านบาท ที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่รองรับการค้าและการลงทุนนวัตกรรมด้านชีวภาพ