10 เทรนด์เทคโนโลยีอนาคตมุมมองครีเอทีฟ

02 ก.พ. 2565 | 09:12 น.

Adobe เผย “10 เทรนด์เทคโนโลยีอนาคตในมุมมองด้านครีเอทีฟที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน รวมทั้งสิ่งที่แบรนด์จะต้องตระหนักถึง

Scott Belsky, Chief Product Officer และรองประธานบริหารอะโดบี ครีเอทีฟคลาวด์  กล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้มาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา คือ รูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไป และจะยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เราได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับไอเดียใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น แทนที่จะกล่าวถึงเทรนด์ที่เห็นอย่างชัดเจน

10 เทรนด์เทคโนโลยีอนาคตมุมมองครีเอทีฟ

โดยการคาดการณ์ The near future of technology ครอบคลุมมุมมองต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน รวมทั้งสิ่งที่แบรนด์จะต้องตระหนักถึง ดังนี้:

1. คำแนะนำที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะเข้ามาแทนที่รายการ Favorites

รายการโปรด หรือ “Favorites” จะถูกแทนที่ด้วย AI ถ้าเรามองย้อนกลับไป เราจะพบว่าการรวบรวมและเรียกใช้ “รายการโปรด” เป็นความพอใจในสิ่งที่มีอยู่ กล่าวคือ เราพอใจสิ่งต่างๆ ที่เราชอบอยู่แล้ว แทนที่จะสำรวจสิ่งใหม่ๆ เพื่อขยายรสนิยมหรือความชอบของเราให้หลากหลายมากขึ้น

 

เมื่อไม่นานมานี้ แทนที่ผมจะบันทึกเพลย์ลิสต์ที่พบเจอและชื่นชอบบน Spotify แต่กลับยินยอมที่จะไว้ใจอัลกอริธึม ซึ่งเหมือนกับฟีเจอร์การฟังเพลงจากวิทยุแต่มีการ “ยกระดับ” ขีดความสามารถให้ดียิ่งขึ้น และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ประสบการณ์การเดินทางที่ชื่นชอบจะนำไปสู่ recommendation ซึ่งจะเข้ามาแทนที่การค้นหาข้อมูลบน Google

 

ทุกสิ่งที่คุณชื่นชอบจะกลายเป็นข้อจำกัดหรือการตีกรอบให้กับชีวิตของคุณ โดยคุณอาจจะสนใจอยู่แต่เรื่องเหล่านี้จนไม่มีโอกาสที่จะสำรวจประสบการณ์ใหม่ๆ ที่อาจจะดีกว่า (ตามกฎของความเป็นไปได้)  ยิ่งเราจำกัดตัวเองไว้เฉพาะที่ “รายการโปรด” เราก็ยิ่งไม่มีโอกาสที่จะค้นพบประสบการณ์ที่ดีกว่า ซึ่งตรงจุดนี้ AI สามารถช่วยได้

2. คนรุ่นใหม่จะประกอบอาชีพที่มีหลากหลายบทบาท หรือ “Polygamous Careers” และทำให้โลกขององค์กรเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

 

คนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานจะเลือกประกอบอาชีพหลากหลายด้าน หรือที่เรียกว่า “Polygamous Careers”  ความต้องการที่จะสร้างรายได้และเติมเต็มชีวิตผ่านการทำงานในหลายๆ ด้านจะช่วยดึงดูดพนักงานให้อยู่กับองค์กร นอกจากนี้ยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในสถานที่ทำงาน  และช่วยให้บริษัทสามารถสรรหาบุคลากรชั้นนำที่ยากจะเข้าถึง อาชีพการงานของแต่ละคนจะมีลักษณะเป็นพอร์ตโฟลิโอที่ระบุผลงานจากโครงการต่างๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นดีไซเนอร์ วิศวกร พนักงานขาย หรือนักลงทุนก็ตาม 

 

ยกตัวอย่างเช่น Polywork เป็นพัฒนาการที่ทันสมัยของ LinkedIn โดยมีการรวบรวมข้อมูลโปรไฟล์ของบุคคลอย่างละเอียดในระดับโครงการย่อยและผลงานต่างๆ แทนที่จะระบุเฉพาะตำแหน่งงาน ดังนั้นจึงอาจมีการระบุรายละเอียดต่างๆ ของงานอย่างเช่น “เขียนโค้ด” “อัพเดตแอป iOS” หรือ “เป็นวิทยากรในการประชุมสัมมนา” ในโลกของการทำงานแบบ Polygamous Career เหตุการณ์สำคัญเหล่านี้มีความสำคัญมากกว่า และอีกหนึ่งบริษัทที่น่าสนใจก็คือ Braintrust ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ “บุคลากรเป็นเจ้าของ” โดยบริษัทจะสามารถว่าจ้างกลุ่มฟรีแลนซ์และทำงานร่วมกันได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลางหรือเสียค่าธรรมเนียมในการสรรหาบุคลากร และท้ายที่สุดแล้ว เราก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้นจากการทำงานที่เราชอบ หรือ “Tune-In Jobs” (รู้สึกเต็มอิ่มและมีส่วนร่วมอย่างมากกับงานที่ทำอยู่) ซึ่งต่างจาก “Tune-Out Jobs” (ซึ่งเราจะสนใจแต่เฉพาะเวลาเข้า-ออกงาน)  และโลกของเราก็จะพัฒนาไปข้างหน้าโดยอาศัยบุคลากรที่มีส่วนร่วมกับงานอย่างจริงจัง

 

3. การเติบโตของประสบการณ์แบบ Immersive จะทำให้การสร้างผลงาน 3 มิติกลายเป็นกระแสหลัก

 

เมต้าเวิร์ส (Metaverse) ทำให้การเล่นเกม การติดต่อกับเพื่อนๆ และทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานภายในโลกเสมือนจริงเป็นแบบเรียลไทม์ คณะกรรมการยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าอุปกรณ์ใดจะถูกใช้ในการสัมผัสประสบการณ์ดังกล่าวที่สถานศึกษา ที่ทำงาน และที่บ้าน แต่เทรนด์นี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และทุกคนจะเข้าไปมีส่วนร่วมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตามประสบการณ์นี้จะน่าเบื่อและไม่ได้รับความนิยม ถ้าหากไม่มีการใส่คอนเทนต์แบบอินเทอร์แอคทีฟ 3 มิติที่ดึงดูดและมีการปรับแต่งแบบเฉพาะบุคคล  รวมไปถึงสื่อประเภท Immersive แต่ปัญหาคือ คอนเทนต์ 3 มิติเป็นสิ่งที่สร้างยาก โดยเมื่อก่อนนี้ ในการสร้างวัตถุ 3 มิติ จะต้องใช้โปรแกรมสร้างแบบจำลองที่ซับซ้อน และมีการคำนวณทางคณิตศาสตร์มากมาย จากนั้นก็จะต้องใช้โปรแกรมอื่นๆ อีกหลายโปรแกรมสำหรับการวาดภาพประกอบและเรนเดอร์

 

เราได้เรียนรู้ว่านักออกแบบส่วนใหญ่ต้องการที่จะเริ่มต้นจากวัตถุ 3 มิติในสต็อก แทนที่จะต้องสร้างขึ้นใหม่ตั้งแต่ต้น และวัตถุ 3 มิติในสต็อกที่ว่าจะนี้จะต้องสามารถกำหนดค่าพารามิเตอร์ ควบคุมจัดการได้ง่ายเพื่อรองรับการทำงานครีเอทีฟ โดยปราศจากความยุ่งยากซับซ้อน ชุด Substance 3D ที่ประกอบด้วยเครื่องมือที่จะช่วยให้สามารถปั้นชิ้นงานวัตถุ 3 มิติ (เหมือนกับงานปั้นดิน) ด้วยการสวมใส่เฮดเซ็ตสำหรับ Virtual Reality (VR) จากนั้นก็ปรับแต่งเพิ่มเติมในโปรแกรมเดสก์ท็อปเพื่อทำให้ดูสมจริงมากขึ้น เราทุกคนจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบ 3 มิติได้ทันทีที่ประสบการณ์แบบ Immersive กลายเป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง

 

4. “Stakeholder Economy” จะขับเคลื่อนแบรนด์เกิดใหม่และธุรกิจท้องถิ่น และส่งผลกระทบต่อบริษัทยักษ์ใหญ่บนอินเทอร์เน็ต และตลาดซื้อขายสินค้าทั่วโลก

แบรนด์ต่างๆ จะถูกกำหนดด้วยมีม คอนเทนต์ และการสนทนาในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจและโครงการใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นชุมชนก็จะมีลักษณะกระจายศูนย์มากขึ้นเช่นกัน โดยโครงสร้างองค์กรใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนจะทำให้เจ้าของและลูกค้าเป็น stakeholders

 

5. ปัจจุบัน แบรนด์ต่างๆ ถูกกำหนดด้วยการสร้างคอนเทนต์ของมวลชน ซึ่งต่างจากการใช้บริการของเอเจนซี่ด้านครีเอทีฟและการซื้อโฆษณา และทุกวันนี้ แบรนด์ต่างๆ จะนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีและสดใหม่ได้จำเป็นต้องอาศัยคอนเทนต์ล่าสุดที่เกิดขึ้น

 

ถ้าแบรนด์หรือบริษัทที่คุณชื่นชอบสามารถให้คุณเป็นเจ้าของได้ ประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นเจ้าของร่วมกันในบริษัทขนาดเล็กอาจกลายเป็นภัยต่อบริษัทขนาดใหญ่ ถ้า stakeholders ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนในธุรกิจดังกล่าวมีแรงจูงใจที่จะช่วยสร้าง ปรับปรุง ทำตลาด และสนับสนุนแบรนด์นั้นๆ ก็ย่อมจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และในท้ายที่สุดแล้ว ธุรกิจที่อาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนแบบ “many-to-many” น่าจะประสบความสำเร็จในการทำตลาดได้ดีกว่าธุรกิจแบบ “one-to-many”  เราทุกคนจะเลือกรับโฆษณามากขึ้นด้วยประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล

 

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะทำการปรับแต่งแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) ได้เป็นอย่างดีจนทำให้การดูโฆษณาเป็นที่นิยมมากขึ้น การเจอโฆษณายาสีฟันไวท์เทนนิ่งหรือคอร์สลดน้ำหนักที่น่ารำคาญใจครั้งแล้วครั้งเล่าย่อมทำให้คนเลือกที่จะไม่ดูโฆษณา อย่างไรก็ดี “ประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล” จะช่วยทำให้เกิดการโฆษณารูปแบบใหม่ และโดยมากแล้วเราก็ชอบประสบการณ์แบบนี้มากกว่า

 

6. การบริการที่ “เพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน” เพื่อต่อกรกับผู้มีอำนาจ

 

ผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจอย่างมากกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์และเครือข่ายที่มุ่งขจัดอุปสรรค หรือโมเดลธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และเราจะเห็นสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่นแอป DoNotPay ซึ่งมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคในการต่อสู้กับระบบราชการ และหาหนทางขจัดขั้นตอนการทำงานของภาครัฐเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชน บริการทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ประชาชน แทนที่จะต้องรอรับบริการในระบบที่อยู่เกินอำนาจการควบคุมของประชาชน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนอกจากจะช่วยเหลือประชาชนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและบริษัทขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทและดำเนินการอย่างรับผิดชอบ

 

7. ทุกส่วนงานขององค์กรจะแปรเปลี่ยนเป็น Immersive Experience รองรับ multi-player

 

สิ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงกันก็คือเรื่องของค่าใช้จ่ายและข้อเสียของระบบผู้เล่นหลายคน (Multi-player) ไม่ว่าจะเป็นแอปที่มีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อรองรับการทำงานร่วมกันมากขึ้น หรือโปรโตคอลที่อาศัยฉันทามติ (consensus) บนบล็อกเชน อย่างไรก็ดี คนรุ่นใหม่มีทัศนคติที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับคุณประโยชน์และข้อเสียที่ตามมา กล่าวคือ คนกลุ่มนี้ต้องการที่จะทำงานร่วมกันมากกว่า แม้ว่าจะมีปัญหาและความล่าช้าเกิดขึ้น เมื่อเทียบกับการทำงานโดยลำพังเพียงคนเดียว แต่ทำได้เร็วกว่า

 

8. คนรุ่นใหม่จะชื่นชอบรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานแบบมีอิสระมากขึ้น (Nomad)

 

คนหนุ่มสาววัยยี่สิบกว่าเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ตามบ้านเช่าหรือเปลี่ยนที่พักไปเรื่อยๆ ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ทำงานจากระยะไกล และดื่มด่ำกับวัฒนธรรมในชุมชนที่อาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้น  ประสบการณ์ดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การยอมรับความหลากหลายอย่างเปิดกว้าง และการค้นหาตัวเองจะส่งผลดีต่อชีวิตส่วนตัวและอาชีพการงาน มีผลิตภัณฑ์ หรือเครือข่ายประเภทใดบ้างที่จะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงประสบการณ์ดังกล่าวได้ง่ายขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง? แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์และองค์กรนายจ้างที่ปรับเปลี่ยนไปสู่ทิศทางนี้จะประสบความสำเร็จในอนาคต

 

9. โมเดลแฟรนไชส์แบบย้อนกลับและ “Eduployment” จะขับเคลื่อนการเติบโตและความยืดหยุ่นของธุรกิจขนาดเล็ก

 

แนวคิดเรื่อง “Eduployment” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะปลดล็อคอาชีพหลายล้านตำแหน่งในช่วงเวลาหลายปีนับจากนี้  Eduployment เป็นการบูรณาการเชิงลึกของการทำธุรกิจ การศึกษา และการหางานหรือเปิดบริษัทใหม่  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บริษัท Nana ซึ่งฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า (เช่น เครื่องล้างจาน) และช่วยให้ได้รับงานซ่อมแซมจากผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนบริษัท Hoist จะฝึกอบรมให้คุณเป็นช่างทาสี รวมถึงทักษะด้านอื่นๆ พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็น และช่วยให้คุณหางานได้ภายในเวลา 30 วัน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเปรียบเสมือนการทำธุรกิจแฟรนไชส์ 

 

10. ยุคของอัตลักษณ์ที่หลากหลาย (Multiple Identities): เราค้นหา ยอมรับ และแสดงออกซึ่งตัวตนที่หลากหลายของเรา

 

ยุคสมัยล่าสุดของโซเชียลเน็ตเวิร์กยอมรับ หรืออย่างน้อยก็รองรับการใช้นามแฝง แต่ในยุคหน้า โซเชียลเน็ตเวิร์กจะถูกปรับปรุงให้สอดคล้องกับความจริงที่ว่าผู้ใช้ทุกคนมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย  แน่นอนว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เราไม่ต้องการที่จะถูกจำกัดหรือจำแนกด้วยอัตลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวที่ถูกกำหนดโดยคนอื่นๆ รอบตัวเรา  แม้ว่าเรามีจินตนาการและความต้องการที่จะเป็นใครสักคนในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งต่างจากสิ่งที่คนอื่นๆ บอกว่าเราเป็น แต่ก็มีอุปสรรคและแรงเสียดทาน ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสถานการณ์แวดล้อม (ภูมิลำเนา รูปร่างหน้าตา คนที่คุณพบเจอ) ที่ถูกกำหนดอย่างตายตัวมากเกินไป และจะต้องใช้ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น และความท้าทายอย่างมากเพื่อจะสามารถหลุดจากกรอบที่ว่านี้