ทีดีอาร์ไอ ยก "พ.ร.บ.แข่งขันการค้า" ปม TRUE - DTAC

22 พ.ย. 2564 | 07:30 น.

“ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ยก "พ.ร.บ.แข่งขันการค้า" ปม TRUE - DTAC พร้อมเเนะ 2 ประเด็น ใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการหรือไม่

ประเด็นร้อนที่ต้องจับตา ควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค หลังบอร์ดไฟเขียวปิดดีลควบรวมธุรกิจ ตั้งเป้าสู่ Tech Company  ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ

เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ 

เรียกได้ว่าได้รับความสนใจทั้งในและนอกวงการธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม กับดีลประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

การควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค ทำให้คำถามและความกังวลมากมาย มีอะไรที่ต้องจับตาและคาดว่าจะเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้บริโภคและธุรกิจโทรคมนาคมในไทย

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้พูดคุยกับ ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งสนใจศึกษาวิจัยโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยเฉพาะมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์

ได้คำตอบว่า การควบรวมกิจการในครั้งนี้ประเด็นสำคัญเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.แข่งขันการค้า

 

เพราะการคำนึงถึงการแข่งขันทางการค้า สิ่งที่ต้องกังวลก็คือ ธุรกิจที่ผูกขาดจะส่งผลเสียต่อประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปการประเมินทางด้านกฎหมายจะมีแนวทางการพิจารณาอยู่แล้ว แต่ในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ที่ควรจะใช้ในการประกอบการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์มองเรื่องผูกขาด โดยจะแยกเป็น 2 ประเด็นหลัก

 

ประเด็นแรก คือผลกระทบต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ สำหรับประชาชน สิ่งที่ควรจะเป็นคือ การแข่งขันจะทำให้การบริการมีราคาที่เหมาะสม และคุณภาพการให้บริการที่มีคุณภาพ  ดังนั้นต้องจับตาดูทิศทางราคาการให้บริการว่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว มีความเหมาะสมหรือไม่ และในเรื่องคุณภาพการให้บริการว่า มีคุณภาพให้บริการดีหรือไม่ เช่น ความครอบคลุมของเครือข่าย คุณภาพของสัณญาณ ฯลฯ

 

ในด้านธุรกิจ การแข่งขันในภาคธุรกิจจะทำให้การพัฒนา 5G ของประเทศสามารถตอบโจทย์ทางด้านเศรษฐกิจได้ ซึ่ง 5G จะนำไปสู่การพัฒนาภาคการขนส่ง การพัฒนาธุรกิจเกม Virtural Reality  เป็นต้น ดังนั้นถ้ามีการแข่งขัน การพัฒนา 5G ของไทยจะไปได้เร็ว จึงต้องจับตาว่าจะไปได้เร็วมากจริงหรือไม่

 

สำหรับภาครัฐ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ รายได้จากสัมปทาน ตามปกติแล้ว ธุรกิจต้องอาศัยสัมปทานคลื่นในการนำมาให้บริการ การแข่งขันที่มาทำให้ภาครัฐได้ค่าสัมปทานที่สูง ซึ่งต้นทุนก็จะนำไปสู่การแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพให้บริการเพื่อสร้างรายได้ให้กับธูรกิจต่อไปในอนาคต  เช่น พอประมูลคลื่นมาก็ต้องพัฒนา 5G ไวๆ เพื่อให้ได้รายได้มาจ่ายสัมปทาน ดังนั้น ภาครัฐต้องจับตาดูมูลค่าคลื่นและสัมปทาน

 

ประเด็นที่ 2 คือประเด็นระดับโลก ธุรกิจที่ควบรวมกัน ทำให้ธุรกิจใหญ่ขึ้นมาก และต้องการเห็นธูรกิจไทยที่ต่อยอดการพัฒนาไปในระดับโลกได้ ไม่ใช่แค่แสวงหารายได้จากในประเทศ และสามารถนำความเข้มแข็งไปต่อยอดให้กลายเป็น Global Firm ถ้าแค่เน้นในประเทศอย่างเดียวก็จะเป็นการเติบโตที่จำกัด

 

“ถ้าดูตามกฎหมายแค่ส่วนแบ่งตลาด แล้วมาตอบว่าควรจะให้ควบรวมกิจการหรือไม่ ผมมองว่าอาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน อยากให้พิจารณาผลกระทบใน 3-4 ด้านข้างต้น จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า ผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม การพัฒนาเทคโนโลยี 5G เดินไปได้อย่างรวดเร็ว ภาครัฐยังได้รายได้จากค่าสัมปทานอย่างเหมาะสม และธุรกิจไทยสามารถพัฒนาไปเป็นธุรกิจระดับโลกได้”