‘ดีป้า’ เร่งขับเคลื่อน ดิจิทัลชุมชนภาคเหนือ

11 พ.ย. 2563 | 12:43 น.

ดีป้า เดินหน้าโครงการหนุนประยุกต์ใช้ดิจิทัล ยกระดับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือพร้อมชูระบบ ERP บริหารจัดการไข่ไก่และเทคโนโลยีคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง

    ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้าได้ส่งเสริมให้ชุมชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) ประกอบด้วย โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Predictive Machine Vision ในขั้นตอนการคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง และประมวลผลด้วยวิธีการของ Machine learning โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ลำพูนดีเอสฟู๊ด ที่จับคู่กับ บริษัท เอไอ อินดัสทรี จำกัด ผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้าง เครื่องคัดคุณภาพลำไยอบแห้งแบบอัตโนมัติที่สามารถจำแนกคุณภาพและความเสียหายของลำไยอบแห้ง รายงานและวิเคราะห์การคัดคุณภาพ รวมถึงติดตามตรวจสอบการผลิตของเครื่องคัดลำไยแบบออนไลน์

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล      โดยจะคัดแยกลำไยอบแห้ง ที่มีลักษณะบุบ แตก ซึ่งปกติก่อนการคัดแยก จะมีลำไยอบแห้งที่เสียปนมาประมาณ 5-15% ของลำไยอบแห้งที่ดี ขั้นตอนนี้จะแสดงถึงคุณภาพลำไยอบแห้งของแต่ละโรงงานปัจจุบันทุกโรงงานยังต้องใช้แรงงานคนที่มีทักษะสูง ในการจัดการและมีค่าใช้จ่ายแรงงานในการคัดลำไยอบแห้ง กล่องละ 5 บาท (10 กิโลกรัมต่อกล่อง) รวมเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี ปีละกว่า 600,000 บาท ซึ่งหากสามารถลดต้นทุนส่วนนี้ลงไปได้มากจะทำให้โรงงาน สามารถรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้นได้

“ปกติการตรวจคัดแยกเปอร์เซ็นต์ลำไยที่เสียนั้น ถ้าใช้แรงงานคนจะสามารถคัดแยกได้ 140 กล่องต่อวัน แต่หากใช้เทคโนโลยี Predictive Machine Vision 1 เครื่องจะสามารถคัดแยกได้ 280 กล่องต่อวันลดแรงงานคนจาก 3 คนเหลือ 1 คน เพิ่มรายได้ 20-50 บาทต่อกล่อง โดยค่าเครื่องจักรคัดแยกพร้อมซอฟต์แวร์ราคาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งทางดีป้ามอบเงินทุนให้ 60% และเป็นเงินทุนจากผู้ประกอบการอีก 40% คาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 2 ปี หากมีการใช้เครื่องคัดแยกประมาณ 6 เครื่อง จะสามารถผลิตได้ 2,000 กล่องต่อวัน โดยปัจจุบันผลิตได้ 40 กล่องต่อชั่วโมงกล่องละ 10 กิโลกรัม ทั้งนี้เทคโนโลยีดังกล่าวจะตัองใช้ AI ในการเรียนรู้ข้อมูลลำไยเพื่อการคัดแยกประมาณ 100,000 ภาพขึ้นไปและมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 2.4 ล้านบาทต่อปี

    ‘ดีป้า’ เร่งขับเคลื่อน ดิจิทัลชุมชนภาคเหนือ    นอกจากนี้ ดีป้ายังได้เดินหน้าโครงการระบบบริหารจัดการไข่ไก่เพื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (ไข่ไก่อารมณ์ดี) โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผล ผลิตเกษตรกรบ้านนาหึก อำเภอแม่ริม ที่ประยุกต์ใช้ระบบ ERP ในการบริหารจัดการและตรวจสอบสถานะไข่ไก่แบบเรียลไทม์ ทั้งจำนวนไข่ไก่ที่ลูกค้าต้องการ ไข่ไก่คงเหลือ ยอดสะสมไข่ไก่ ที่ส่งให้กับชุมชน รวมถึงระบบการจัดการรับซื้อและจำหน่ายไข่ไก่

    นอกจากนี้ยังสามารถติดตามและเก็บข้อมูลปริมาณการรับซื้อและกระจายไข่ไก่ขนาดต่างๆ ในเชิงสถิติ เพื่อทำการประเมินผลและคาดการณ์ปริมาณและขนาดของไข่ให้สอดคล้องกับการรับซื้อ การเก็บรักษา และการกระจายให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งช่วยให้เกษตรกรในชุมชนสามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 180,000 บาทต่อปี ขณะเดียวกันยังสามารถลดต้นทุนด้านแรงงานได้มากกว่า120,000 บาทต่อปี

“สำหรับระบบบริหารจัด การไข่ไก่นั้นใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็น Software as a service ในการเลี้ยงไก่ไข่การให้อาหาร จัดการสภาพแวดล้อมในฟาร์ม โดยดีป้าได้สนับสนุนเงินทุนคนละครึ่งกับผู้ประกอบการเพื่อช่วยสร้างตลาดให้กับสตาร์ทอัพ สร้างการเติบโตให้ตลาดจากเคสที่ประสบความสำเร็จ และเป็นโปรไฟล์การดำเนินธุรกิจด้วยการร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งในปีแรกมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 100 ราย ปีที่สอง 200 ราย และปีที่ 3 ตั้งเป้าผู้ประกอบการเข้าร่วม 350 ราย” ดร.ณัฐพล กล่าว

 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,626 หน้า 16 วันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2563