'ไทย' ติดอันดับ 39 ความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล

29 ม.ค. 2562 | 08:04 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

IMD จัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล ไทยขึ้นเป็นลำดับ 39 ในปี 2561 จากปี 2557 รั้งอันดับที่ 44

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง "Achieving Thailand's digital competitiveness : the advancement through the years ยกระดับสถานะการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย : การพัฒนาที่ผ่านมา" จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปาฐกถา เรื่อง The State of Digital Thailand : สถานะดิจิทัลประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ขณะนี้ได้เริ่มปรากฏผลสำเร็จ ซึ่งสะท้อนถึงอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน จากดัชนี World Digital Competitiveness Ranking ตามการจัดอันดับของสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ของไทย โดยดีขึ้นจากอันดับ 44 ในปี 2557 มาเป็นอันดับที่ 39 ในปี 2561

นอกจากนี้ ผลการจัดอันดับ Global Competitiveness Index 4.0 โดย World Economic Forum ซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วย ในปี 2018 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในอันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศ ซึ่งดีขึ้นจาก ปี 2017 ที่อยู่ในอันดับที่ 40


KRIS-176

รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้เปิดเผย ข้อมูลสถานภาพการการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (Media and Information Literacy) และการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) ของประเทศไทย ว่า จากการขยายตัวของการใช้งานอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์มือถือ และสื่อสังคมออนไลน์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อให้ไม่ให้ถูกหลอกลวงและฉ้อโกง รวมถึงสร้างความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในระดับสากล ที่ต้องเร่งหาแนวทางในการประเมินสถานภาพและกำหนดแผนงานนโยบาย โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้กำหนดกรอบการวัดสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้มีการสำรวจและประเมินระดับการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศของประชาชน ซึ่ง สดช. เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการ ปรากฏผลคะแนนเฉลี่ย 68.1 คะแนน ซึ่งจัดอยู่ในระดับ "ดี" ประเมินได้ว่า ประชาชนไทยมีความรู้ ทักษะ ความเข้าใจ และทัศนคติ ที่สามารถประยุกต์ใช้ในการเปิดรับสื่อและสารสนเทศในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ สดช. ยังได้ดำเนินการสำรวจสถานภาพ Digital Literacy โดยมีผลคะแนนเฉลี่ย "63.7" คะแนน จัดอยู่ในระดับ "พื้นฐาน" ซึ่งประเมินได้ว่า ประชาชนไทยมีความเข้าใจและใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้ แต่ยังขาดพื้นฐานด้านจริยธรรม กฎ ระเบียบ และความปลอดภัย ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะต้องดำเนินการพัฒนาให้ประชาชนไทยมีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล หรือ Digital Citizenship ในอนาคต


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ด้าน ดร.ปิยนุช วุฒิสอน เลขาธิการ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า สดช. ได้เริ่มดำเนินการในการสำรวจและวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีการศึกษาและกำหนดแนวทางการวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการระบุระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นข้อมูลสนับสนุนในการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ สำหรับแนวคิดในการดำเนินการจะเป็นการจัดทำบัญชีบริวาร (Satellite Account) ซึ่งเป็นระบบบัญชีที่เชื่อมโยงกับระบบบัญชีของประเทศ เบื้องต้น การดำเนินงานจะกำหนดกรอบแนวทางการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล และอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการดังกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับแผนการดำเนินการในการวัดสถานะการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไปนั้น สดช. ยังมีแนวคิดที่จะดำเนินการในหลาย ๆ ส่วน ทั้งในเรื่องของการวางกลไกการติดตาม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ โดยจัดทำและจัดเก็บชุดข้อมูล (Dataset) เพื่อเชื่อมโยงสู่ระบบศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligence Center) สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลและคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งการเปิดเผยชุดข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเปิด (Open Data) สำหรับหน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน ในการนำข้อมูลไปต่อยอดการใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังจะร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ดำเนินการศึกษาและพัฒนาแนวทางการจัดเก็บข้อมูลสถานภาพประเทศ ที่สามารถสะท้อนภาพการพัฒนาในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล หรือ Thailand Digital Outlook ตามโมเดลการวัดสถานะ Digital Transformation ของ OECD อีกด้วย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว