“เทคโนฯ หุ่นยนต์” ถึงยุคเปลี่ยน! “โตชิบา” พัฒนาต้นแบบจักรกลทำงานร่วมมนุษย์

03 พ.ย. 2560 | 08:32 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

1528

“โตชิบา” ชี้! เทคโนโลยีหุ่นยนต์ถึงยุคผลัดเปลี่ยน “ปัญญาประดิษฐ์” สร้างให้เครื่องจักรทำงานร่วมมนุษย์ ล่าสุด เผยต้นแบบก่อนต่อยอดพัฒนาสู่กระบวนการผลิตแมสโปรดักชัน

นายฮิโรมาสะ ทาคาฮาชิ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญแห่งศูนย์วิศวกรรมการผลิต บริษัท โตชิบา คอร์เปอเรชั่นฯ (Toshiba’s Corporate Manufacturing Engineering Center) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน หุ่นยนต์จะถูกตั้งระบบตามเกณฑ์วิธีโปรโตคอลไว้ล่วงหน้า ให้ทำงานประจำซ้ำ ๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังจะเกิด คือ การผลัดเปลี่ยนการพัฒนาหุ่นยนต์ โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะทำให้เครื่องจักรเกิดองค์ความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การที่หุ่นยนต์สามารถทำงานที่ไม่ใช่งานประจำซ้ำ ๆ เดิมได้ การทำงานเหล่านั้น หุ่นยนต์จะต้องทำงานร่วมกับมนุษย์ และมนุษย์จะต้องรู้สึกสบายใจที่จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ด้วย


TP05-3310-B

“เป็นที่ทราบกันดีว่า หุ่นยนต์นั้นมีจุดเด่นในการทำงานแบบซ้ำ ๆ เป็นระบบ เช่น ในกระบวนการผลิตแบบเน้นปริมาณมาก (Mass Production Lines) และไม่สามารถทำงานในสายการผลิตแบบเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ เน้นสินค้าเฉพาะแบบและมีความหลากหลาย (High-Mix, Low-Volume Lines) เป็นการผลิตที่เป็นส่วนสำคัญในอนาคตได้ นอกจากนี้ เมื่อดูกันตามประชากรศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น การก้าวสู่สังคมสูงวัย ซึ่งมีประชากรสูงอายุมาก ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันในสังคมลดลง จึงจำเป็นต้องมีการใช้หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์เป็นกำลังสำคัญในทีม และท้ายที่สุด ในส่วนของตัวหุ่นยนต์ ขนาดของหุ่นยนต์ รูปร่างหน้าตา และความสามารถ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งตามกฎพื้นฐาน ยิ่งหุ่นยนต์มีขนาดใหญ่ สามารถยกของหนักได้มากขึ้น และไม่เพียงเพราะด้วยขนาดที่ใหญ่จะกระทบต่อการทำงานในพื้นที่กระบวนการผลิต แต่ยังทำให้ผู้ทำงานรู้สึกกลัวอีกด้วย ซึ่งเราต้องการที่จะสร้างหุ่นยนต์ที่ไม่เพียงแต่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ แต่ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ปฏิบัติงานร่วมกันรู้สึกกลัวหรือไม่สบายใจด้วย

นายทาคาฮาชิ กล่าวต่อไปอีกว่า ดังนั้น จึงมุ่งออกแบบคอนเซ็ปต์หุ่นยนต์หลักออกเป็น 3 ส่วน คือ ต้องดูอ่อนโยน มีความโค้งมน, มีสีที่สบายตา และมีความปราดเปรียว หุ่นยนต์นี้สำเร็จออกมาในรูปแบบของพลาสติกสีขาว มีขอบโค้งมน และเป็นแนวระนาบทรงกลม ประทับตราตรงหน้าอก และมีไฟ LED สีฟ้าอ่อน ในขณะปฏิบัติงาน เป็นมิตรกับผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทั้งยังพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ลักษณะการขยับหัวก็ยังเหมือนมนุษย์อีกด้วย

โดยหุ่นยนต์ต้นแบบนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ทำให้ขณะนี้ หุ่นยนต์รุ่นดังกล่าวมีความสูง 2 เมตร แต่มีแขน 2 ข้าง เหมือนมนุษย์ทุกอย่าง ทั้งยังมีความกว้างจากไหล่ชนไหล่เพียงแค่ 70 เซนติเมตร มีขนาดสัดส่วนคล้ายมนุษย์ ซึ่งทำให้หุ่นยนต์รุ่นดังกล่าวสามารถทำงานในสายพานกระบวนการผลิต โดยไม่ต้องยกเครื่องรูปแบบและแผนผังการทำงานใหม่ และในการทดสอบเครื่องจักรทั้งหลาย ประเด็นสำคัญอยู่ที่ตรงขนาดของหุ่นยนต์ กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้น้ำหนักที่มากที่สุดที่กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานยกได้ คือ 20 กิโลกรัม ขณะที่ ความพยายามในการแก้ปัญหาในอดีต คือ การนำเอาหุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์มาช่วยในการทำงาน ซึ่งสามารถควบคุมการทำงานได้อย่างดีและแม่นยำ แต่การยกของที่หนักก็ยังคงเป็นข้อจำกัดของการใช้หุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้เป็นเครนหรือปั้นจั่น หรือเครื่องจักรอื่น ๆ ในการยกแทน


บาร์ไลน์ฐาน

“เราอยากเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรทุกและกำลังการยกให้กับหุ่นยนต์ เราจึงลองนำเอาไฮดรอลิก แอกทูเอเตอร์ หรือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับควบคุมวาล์วแบบไฮดรอลิกมาใช้ แต่แล้วอุปกรณ์ไฮดรอลิกก็ไม่สามารถตอบสนองในส่วนของความแม่นยำในการทำงานที่เราต้องการได้ เราจึงต้องทดลองค้นคว้าวิจัยใหม่ จนกระทั่งเราค้นพบส่วนประกอบที่เหมาะสม เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ระบบไฟฟ้ากับรถบบไฮดรอลิก ซึ่งทำให้เราได้หุ่นยนต์ที่มีการทำงานได้ผลลัพท์แม่นยำและมีประสิทธิภาพการยกแบบ 2 แขน ได้มากถึง 100 กิโลกรัม”

ทั้งนี้ หุ่นยนต์ต้นแบบดังกล่าว จะช่วยให้ทีมพัฒนาสามารถต่อยอดความสำเร็จ กล่าวคือ การปรับปรุงเวอร์ชันใหม่ ๆ พัฒนาอัพเกรดการทำงานของหุ่นยนต์รุ่น 2 แขน เข้าสู่กระบวนการผลิตแบบเน้นปริมาณมาก (Mass Production) และการเข้าสู่ตลาด


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2-4 พ.ย. 2560 หน้า 5


| ข่าวที่เกี่ยวข้อง |
1- ตำแหน่งงานหด! ธนาคารเข้าสู่ยุค AI “หุ่นยนต์” แทนคน 30% ใน 5 ปี
2- แอลจีส่งหุ่นยนต์อัจฉริยะบริการนักท่องเที่ยวในสนามบินอินซอน



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว