‘อดิศักดิ์’ลั่น!จากนี้ไป ‘เจมาร์ท’มีแต่ขาขึ้น

06 ต.ค. 2559 | 11:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ปลายเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) มีมติปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และในวันที่ 16 พฤศจิกายน กำหนดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2559

[caption id="attachment_103891" align="aligncenter" width="700"] บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)[/caption]

อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับทิศทางของบริษัทหลังปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้

เหตุผลที่ปรับโครงสร้างใหม่

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า เพราะมีโครงการขยายธุรกิจอีกเยอะในอดีต เจมาร์ทฯ คิดว่าขายมือถืออย่างเดียว แต่จากนี้แยกโครงสร้างธุรกิจมือถือออกมาดูเป็นหน่วยธุรกิจ หรือ Business Unit เนื่องจากขณะนี้ธุรกิจขยายตัวมากขึ้น ใช้โครงสร้างเดิมไม่ได้เพราะดูไม่ค่อยชัดเจน เพราะฉะนั้นเมื่อมีโครงสร้างใหม่ (ดูตารางประกอบ) เวลาคนมาลงทุนเห็นโครงสร้างธุรกิจชัดเจนเพราะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้เป็นโฮลดิ้งคัมปะนี ซึ่งชื่อบริษัทก็เปลี่ยนใหม่เป็น บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของบริษัท โดย บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด จะเป็นบริษัทแกน และ เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลัก ซึ่งได้รับโอนธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์เสริม และสินค้าเทคโนโลยี ทั้งค้าส่งและค้าปลีก สัญญา ทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและที่ใช้ในการประกอบธุรกิจดังกล่าว รวมถึงบุคลากรที่ เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าวทั้งหมดมาจากบริษัท และบริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักใน เจมาร์ท โมบาย รวมทั้งยังคงถือสัดส่วนการถือหุ้นใน เจมาร์ทโมบาย มากกว่า 50% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ เจมาร์ท โมบาย ไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนดเพื่อให้ เจมาร์ท โมบาย มีสถานะเป็นบริษัทแกน

นอกจากนี้แล้วการปรับโครงสร้างครั้งนี้บริษัทจะดำเนินการโอนกิจการบางส่วนของบริษัท (Partial Business Transfer : PBT) ซึ่งได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์เสริม และสินค้าเทคโนโลยี ทั้งค้าส่ง และ ค้าปลีก สัญญา ทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและที่ใช้ในการประกอบธุรกิจดังกล่าว รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าวทั้งหมด (การโอนกิจการ) ให้แก่ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับโอนกิจการดังกล่าวและบริษัทถือหุ้นใน เจมาร์ท โมบายฯ 99.99%

  แสดงว่าจะมีพันธมิตรใหม่

มีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาคุยอยู่ตลอดเวลา แต่ตอนนี้เราเองคิดว่ายังไม่ถึงเวลาถ้าถึงเวลาเมื่อไหร่แล้วจะประกาศอย่างเป็นทางการ การปรับโครงสร้างกิจการจะทำให้ บริษัทมีความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นในการลงทุนดำเนินธุรกิจใหม่ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์หลักของกลุ่มเจมาร์ท และ ช่วยเพิ่มโอกาสในการหาผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล นิติบุคคล หรือสถาบันการเงิน ที่มีความสนใจหรือความชำนาญเฉพาะในธุรกิจนั้นๆ โดยที่ไม่ต้องร่วมลงทุนหรือรับความเสี่ยงในธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มบริษัท ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุน รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวอีกด้วย

 หลังปรับโครงสร้างตั้งเป้ารายได้อย่างไร

หลังปรับโครงสร้างธุรกิจแล้วได้วางเป้าหมายธุรกิจในแต่ละกลุ่มต้องเติบโตให้ได้ปีละ 30% ภายใน 5 ปีข้างหน้าหลังจากนี้ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อ แต่ ผม คิดว่าน่าจะทำได้เพราะธุรกิจของ เจมาร์ท กำลังขยายตัวอีกเยอะหลังจากนี้

 ยุทธศาสตร์หลังจากนี้

จากนี้ไปจะเป็นขาขึ้นของ เจมาร์ท ไม่ใช่ขาลง เพราะบางคนมองว่าเราอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้นการปรับโครงสร้างครั้งนี้เพื่อยืนยันว่า เจมาร์ท จะไม่มีขาลง เพราะที่ผ่านมาได้มีการปรับโครงสร้างภายในองค์กร และ 2-3 ปีที่ผ่านมา เจมาร์ท พร้อมที่จะทะยานขึ้น เนื่องจากการปรับโครงสร้างครั้งนี้ได้มีการผสมผสานของทุกธุรกิจในแต่ละโครงสร้างธุรกิจจะต้องสนับสนุนทุกกลุ่มธุรกิจให้เติบโตและแข็งแรง ซึ่งโครงสร้างใหม่เหล่านี้ถือว่าได้เปรียบเพราะสิ่งเหล่านี้คู่แข่งทางธุรกิจยังไม่มี เพราะฉะนั้นแม้คู่แข่งยังไม่มีแต่เราก็ต้องแข่งขันกับตัวเองและต้องเติบโตให้ได้ 30% ของทุก ๆ โครงสร้างธุรกิจที่ได้ประกาศออกไปนั้นเป็นโครงสร้างธุรกิจที่ทำไว้นานแล้ว

ทำไมถึงปรับตอนนี้

การปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุด เจมาร์ท เติบโตอยู่ในวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่มานาน มีความเชี่ยวชาญ และ ประสบการณ์ พร้อมเดินต่อไปข้างหน้า เพราะในแต่ละธุรกิจเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เติบโตมาจาก เจมาร์ท ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริหารหนี้ที่บริหารงานภายใต้ JMT (บริษัท เจเอ็มที เน็ตเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) บริหารหนี้เป็นแสนล้านบาท ธุรกิจทางด้านบริหารพื้นที่ให้เช่าก็เป็นหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อโครงสร้างชัดเจนการขับเคลื่อนธุรกิจก็จะไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด

ขณะที่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เจมาร์ท สามารถจำหน่ายได้มากที่สุดในฐานะเชนสโตร์รายใหญ่ในประเทศไทย ส่วนธุรกิจจัดจำหน่ายและเช่าซื้อ ที่บริหารงานโดย บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ภายในอีก 2 ปีนับจากนี้จะกลับมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่เพราะธุรกิจเหล่านี้มีรายได้สม่ำเสมอ และ ภายในปี 2560 บริษัทฯจะเริ่มเข้าไปทำธุรกิจฟินเทค (FINTECH) อีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559