เน็ตหมู่บ้านเกิดแน่หลังกสทช.เปิดทาง หนุน ‘กระทรวงดีอี’ นำร่องโครงการ

04 ต.ค. 2559 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กระทรวงดีอี เดินหน้าเน็ตหมู่บ้าน เตรียมถก "กสทช." กรณีติดตั้งพื้นที่ทับซ้อน หลังสตง.ท้วงติง เผยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาทติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 60 ด้าน "กสทช." ไม่กั๊กไฟเขียวให้นำร่องล่วงหน้า ชี้เหตุคสช.สั่งชะลอโครงการหลังเข้ากุมอำนาจ พร้อมใจปล้ำให้ใช้เงินจากกองทุน กทปส.ที่ได้จากการจัดเก็บค่าใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 3.4 หมื่นล้านบาท

นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กระทรวงดีอี ยังคงเดินหน้าโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ หรือ อินเตอร์เน็ตหมู่บ้านในวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลมีนโยบายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560

อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี จะต้องเจรจาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เนื่องจากมีข้อท้วงติงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งต้องตอบข้อท้วงติงทั้งหมดให้ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ติดตั้งทับซ้อน โครงการนี้จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส

"ท่านประจิน (พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีฯ บอกว่าในปี 2560 ทุกหมู่บ้านจะต้องมีอินเตอร์เน็ต แต่เมื่อสตง.ท้วงติงมาต้องตอบคำถามในเรื่องต่าง ๆ ให้ชัดเจน" นางทรงพร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ สตง.ให้ไปทบทวนโครงการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั้น เนื่องจากเห็นว่าไปทับซ้อนแผนงานที่จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้ทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมได้ตามแผนงานปี 2555-2559 หรือแผน USO ของ กสทช. ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ จะหารือร่วมกัน เพราะ กสทช.มีแผนจะติดตั้งจำนวน 2 หมื่นจุด โดยใช้เงินลงทุนจาก กทปส. (กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ)

สำหรับโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านเป็นงบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้กับกระทรวงดีอีฯ จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ กสทช.ใช้เงินกองทุน กทปส.ที่ได้มาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม

"กระทรวงดีอี คิดว่าจะดำเนินการให้ได้ในปีนี้เพราะเมื่อโครงการเดินหน้าก็จะเกิดการจ้างงาน แต่เมื่อเกิดการทวงติงก็ต้องกลับมาตอบคำถาม ทำโครงการให้ชัดเจนและโปร่งใส เนื่องจากจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด โครงการของกระทรวงเป็นโครงการที่เปิดให้เอกชนเข้ามาเชื่อมต่อปลายสายกับสายหลักได้ แต่โครงการ USO ของ กสทช. คือ ใครได้โครงการไปคนนั้นก็ต้องติดตั้งเครือข่ายปลายสายด้วย" นางทรงพร กล่าว

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากกระทรวงดีอี สามารถทำโครงการอินเตอร์เน็ตนำร่องไปก่อน กสทช.ก็ยินดี เพราะจะได้ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน และ ประหยัดการลงทุนอีกด้วย ทั้งนี้กระทรวงฯสามารถใช้เงินกองทุน กทปส. ที่ได้จัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 3.75% จัดมาแล้ว 4 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กสทช.ยังไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้ติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน เพราะก่อนหน้านี้ กสทช. มีแผนติดตั้งอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านจำนวนกว่า 2 หมื่นหมู่บ้าน ในพื้นที่โซน C คือ พื้นที่ในถิ่นทุรกันดาร แต่ต้องชะลอออกไปเนื่องจากเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศได้สั่งชะลอโครงการเอาไว้ก่อน

"เราไม่มีปัญหาเลยเพราะได้คุยกับท่านประธาน (พล.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการ กสทช.) ท่านก็บอกว่ายินดีถ้ากระทรวงดีอีฯจะติดตั้งไปก่อน มาใช้เงินกองทุน กทปส.ก็ได้โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลฯ" นายฐากร กล่าว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านภายใต้งบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท และโครงการเคเบิลใยแก้วนำแสงเชื่อมต่อระหว่างประเทศ งบประมาณ 2,000ล้านบาท ยังคงเดินหน้าต่อ โดยในส่วนของเน็ตหมู่บ้านแม้ว่าโครงการจะล่าช้าไป 3-4 เดือน แต่ก็เพื่อความโปร่งใส ใครท้วงติงอะไรมาก็ต้องรับมาพิจารณา โดยภายใน 2-3 เดือนนี้ขอตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบโครงการนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแนวทางของทีโออาร์อาจจะยึดแบบเดิม หรือแก้ไขเพิ่มเติมต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าอีก 2-3 เดือน จะสามารถลงนามสัญญาจ้างได้ ยังไงโครงการก็ต้องเสร็จทันภายในปี 2560 เพื่อให้สอดคล้องต่อนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ ด้วยการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ ให้ครบ 7 หมื่นหมู่บ้าน จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 3.5หมื่นหมู่บ้าน เป็นโครงการใหญ่โครงการแรก ที่มีการบริหารงบประมาณโดยกระทรวงฯจำนวนทั้งสิ้น 1.3 หมื่นล้านบาท และโครงการเคเบิลใยแก้วนำแสงเชื่อมต่อระหว่างประเทศจำนวน 2,000 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559