ควบรวมดีลแสนล้าน “TRUE-DTAC” ที่ประชุมกฤษฏีกา เคาะ กสทช.ไม่มีอำนาจสั่งการ

13 ก.ย. 2565 | 03:01 น.

ควบรวมดีลแสนล้าน “TRUE-DTAC” ลือสนั่นที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา เคาะ กสทช.ไม่มีอำนาจอนุญาตสั่งการแผนควบรวมธุรกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานในวันนี้ 13 กันยายน 2565 ว่า  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ส่งผู้แทนเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมอำนาจหน้าที่ของ กสทช. กรณีควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ส่ง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. พร้อมนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. เป็นตัวแทนเข้าประชุมในครั้งนี้

 

เหตุผลที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา  ต้องประชุมเรื่องข้อกฎหมายอำนาจของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ หรือ กสทช. เกี่ยวกับแผนควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ เนื่องจากว่า คณะกรรมการ  กสทช.  ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ  กสทช. ทำหนังสือที่ สทช 2402/38842 ลงวันที่ 25 ส.ค.65 เพื่อขอให้นายกฯ  (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ) พิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อดีลควบรวมธุรกิจดังกล่าว แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเคยมีหนังสือปฏิเสธการให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวมาแล้ว เพราะถือเป็นอำนาจของ กสทช.ตามบทบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งยังเป็นกรณีที่กฤษฎีกาไม่อาจก้าวล่วงได้เนื่องจากประเด็นที่หารือ ยังเป็นคดีความอยู่ในชั้นศาล

 

 

ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือที่ นร 0403 (กน)/12008 ลงวันที่ 5 กันยายน 2565  แจ้งมายังสำนักงาน กสทช. ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบตามที่สำนักงาน กสทช. ร้องขอ และได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับทราบแล้ว นั่นคือที่มาของการประชุมประเด็นข้อกฎหมายอำนาจของ กสทช. สามารถอนุญาต หรือ ไม่อนุญาต แผนควบรวมธุรกิจของ “TRUE - DTAC”

 

“วันนี้คณะกรรมการกฤษฎีกามีการหารือคำสั่งของรักษาการนายกรัฐมนตรีฯ ประเด็นข้อกฎหมายอำนาจหน้าที่ของ กสทช.มีสิทธิอนุญาต หรือ ไม่อนุญาต แผนควบรวมธุรกิจระหว่าง “TRUE-DTAC” นำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณา ซึ่งแนวโน้มมีความเป็นไปได้สูงที่ คณะกรรมการกฤษฏีกาชุดนี้ พิจารณาว่า กสทช. ไม่มีอำนาจอนุญาต”  แหล่งข่าววงการโทรคมนาคมให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”

ก่อนหน้านี้ นายณภัทร วินิจฉัยกุล อดีตกรรมการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ หรือ “ซูเปอร์บอร์ด กสทช.” ได้ยื่นหนังสือถึงศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับหรือหยุดใช้ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2565 เอาไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา

เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลปกครองมีคำสั่งให้ “ยกคำร้อง” ด้วยเหตุผลที่ว่า “หากผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) พิจารณาเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ก็มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้” ซึ่งเท่ากับว่าศาลปกครองกลางชี้ชัดว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณากรณีควบรวม TRUE กับ DTAC

 

ขณะที่กลุ่มพลเมืองเสรีภาพและการสื่อสาร ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ขอให้พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด  (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตามอำนาจของ กสทช.อย่างถูกต้องและเป็นธรรม.