TCP อัดงบความยั่งยืน ปีละ 100 ล้าน กู้ภาวะโลกเดือด

07 ต.ค. 2566 | 07:52 น.

TCP กระตุ้นทุกภาคส่วนเร่ง “ลงมือทำ” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ รับภาวะโลกเดือด งัด 4 แกนหลักขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ.2593 อัดงบความยั่งยืนกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงบการลงทุนธุรกิจ

ปี 2565 กลุ่มธุรกิจ TCP ตั้งงบลงทุนกว่า 12,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2565-2567) โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในต่างประเทศโดยเฉพาะในจีน ควบคู่กับการทำ Action Plans ลงมือปฏิบัติลดปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งจะผนึกงบเพื่อดำเนินการด้านความยั่งยืน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของงบการลงทุนธุรกิจ ที่แต่ละปีคาดว่าจะใช้กว่า 100 ล้านบาท ในการดำเนินงาน

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้กล่าวในงาน “TCP SUSTAINABILITY FORUM 2023” ที่ TCP จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อช่วยขยายองค์ความรู้ สร้างความตระหนักกับประชาชนและทุกภาคส่วน ถึงปัญหาภาวะโลกร้อนว่า ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ปัจจุบันทุกคนสามารถรับรู้ได้จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก ฉะนั้นทุกคนต้องเร่งลงมือปรับเปลี่ยนทันทีเพื่อรับมือกับสภาวะอากาศแบบสุดขั้ว

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP

กลุ่ม TCP ดำเนินการปรับเปลี่ยนตัวเองตั้งแต่ต้นนํ้า คือการผลิต ไปสู่ปลายนํ้าคือ สู่มือผู้บริโภค ภายใต้แผนงาน 4 แกนหลัก ได้แก่ Product Excellence นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ถ้าผลิตออกมาขายไม่ได้ คือผิดตั้งแต่เริ่มต้น ผลิตภัณฑ์ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภค, Circular Economy ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน TCP มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งโปรดักส์ทั้งหมด ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี พ.ศ.2567, Water Sustainability ส่งเสริมการจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน TCP วางเป้าหมายสู่นํ้าสุทธิเป็นบวก ภายในปี พ.ศ.2573 และ Low Carbon Economy ตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608

  • ปรับเปลี่ยนสู่พลังงานยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กลุ่ม TCP ได้ปรับเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานยั่งยืน ทำให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 4% หรือลดคาร์บอนได้ประมาณ 2,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปี 2564 โดยในส่วนของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ได้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่โรงงานผลิตไปแล้วราว 12 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 23 % ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดของโรงงาน นอกจากนี้ ยังพัฒนาส่วนของโรงงานสู่ Smart Manufacturing พัฒนาระบบการผลิตให้สูญเสียน้อยที่สุด และต้องได้ผลลัพธ์มากขึ้น

รวมไปถึงการสร้างอาคารออฟฟิศใหม่ ด้วยงบราว 740 ล้านบาท ด้วยการออกแบบให้สอดรับกับการทำงานรูปแบบใหม่ กับแนวคิด Open Office พื้นที่ทำงานจึงเปิดโล่ง พร้อมจัดสรรพื้นที่กว่า 30% เป็นพื้นที่ส่วนกลางระหว่างแผนกเพื่อใช้เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยนความคิด รวมทั้งให้ความสำคัญกับการลดใช้พลังงานและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จนได้รับมาตรฐาน LEED แพลทตินั่ม

ส่วนเรื่องของโลจิสติกส์ จะเริ่มนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ภายในปีหน้า (พ.ศ. 2567) ประมาณ 23% และปี พ.ศ.2573 จะเพิ่มสัดส่วนการใช้เป็น 30%

TCP อัดงบความยั่งยืน ปีละ 100 ล้าน กู้ภาวะโลกเดือด

  • ขับเคลื่อนแพ็กเกจจิ้งรักษ์โลก

นายสราวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน จะให้ความสำคัญกับการลดนํ้าหนักของบรรจุภัณฑ์ โดยลดนํ้าหนักกระป๋องอลูมิเนียมลง 10% ฝากระป๋องอะลูมิเนียม 7% ขวดแก้ว 21% ขวดพลาสติก 9% โดยตั้งเป้าพัฒนาแพ็กเกจจิ้งในกลุ่ม ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี พ.ศ.2567 และสนับสนุนการเก็บกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล

ส่วนของฉลาก หันมาใช้ฉลากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต หรือ PET แทนการใช้ฉลากพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ หรือ PVC ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และมีความปลอดภัยกับผู้บริโภค

รวมถึงการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดกฎหมาย EPR (Extended Producer Responsibility) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ สามารถช่วยให้ผู้ผลิตได้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซํ้า จนนำมาสู่การนำกลับมาใช้ใหม่

ปัจจุบัน TCP ใช้กระป๋องที่จำหน่ายทั้งหมดในประเทศไทย เป็นกระป๋องที่ผลิตจากรีไซเคิลอะลูมิเนียม มีการนำกระป๋องเข้าสู่การรีไซเคิลได้มากกว่า 63 ล้านใบ หรือราว 803 ตัน และสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 7,339 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ในขณะที่กล่องกระดาษที่ใช้ 99% เป็นกระดาษที่ได้มาตรฐาน FSC

นายสราวุฒิ กล่าวอีกว่า แผนต่อไปของ TCP คือ การตั้งเป้าสู่ 1, Zero Carbon Beverage แม้จะรู้ว่ายาก แต่ TCP ต้องทำ 2. Supply Chain Transparency 3. Water-Stress Mitigation เรื่องนํ้าเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง และ 4. Health and Nutrition Focus การสร้างสรรค์โปรดักส์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ และตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ก็ยังต้องเดินหน้าต่อเนื่องเช่นกัน

“การทำเรื่องความยั่งยืน ส่วนที่ยากที่สุด คือ สโคป 2 และ 3 เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกับพาร์ทเนอร์และซัพพลายเออร์ ส่วนปัญหาใหญ่ คือเรื่องของเวลา เพราะทุกอย่างต้องทำแข่งกับเวลา ในขณะที่โลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เชื่อว่า ทุกคนยินดีที่จะลงมือทำ แต่ภาครัฐควรสนับสนุน เพราะมันมีความยากในทางปฏิบัติหลายอย่าง ที่ต้องปลดล็อกไปเรื่อย ๆ”