รู้จัก “สนธิสัญญาทะเลหลวง” โอกาสสุดท้ายของมหาสมุทร

08 มี.ค. 2566 | 22:55 น.

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาทะเลหลวง High Seas Treaty” โอกาสแห่งความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทร หลัง 200 ประเทศร่วมลงนามข้อตกลง

เป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ ที่มีการพูดคุยเกี่ยวกับ “สนธิสัญญาทะเลหลวง” (High Seas Treaty) มาถึงวันนี้เราได้เห็นการปกป้องพื้นที่ทะเล เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 200 ประเทศ ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ เพื่อกำหนดให้พื้นที่ 30% ของทะเลทั่วโลกเป็นพื้นที่คุ้มครอง ภายในปี 2573 เป็นการเจรจาครั้งประวัติศาสตร์และโอกาสครั้งสุดท้ายในการปกป้องมหาสมุทรของโลก

กรีนพีชประเทศไทย เคยระบุว่า สนธิสัญญาทะเลหลวง คือพื้นที่มหาสมุทรกว่าสองในสามของโลกที่ปัจจุบันกำลังถูกคุกคาม การเปลี่ยนแปลงด้วยสนธิสัญญาทะเลหลวง จะสร้างเขตปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 จากพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด 

ปัจจุบัน มหาสมุทรถูกคุกคามโดยอุตสาหกรรมประมง รวมทั้งมลพิษที่สร้างผลกระทบกับปะการังและดอกไม้ทะเล ทุกๆปี สัตว์ทะเลจำนวน 1 ล้านตันถูกอวนประมงจับ กว่าหมื่นตัวเป็นเต่าทะเล ฉลามและโลมา ในขณะเดียวกันขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล

ขณะที่ในการประเมินสัตว์ทะเลทั่วโลกครั้งล่าสุด พบว่าเกือบ 10% มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ตามรายงานของ International Union for Conservation of Nature (IUCN)

ข้อมูลพบว่า ทะเลหลวงเป็นผืนน้ำขนาดมหึมา อยู่ห่างจากน่านน้ำของประเทศต่างๆ ออกไป 200 ไมล์ทะเล คิดเป็นมากกว่า 60% ของมหาสมุทรทั่วโลกตามพื้นที่ผิว เป็นที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์และระบบนิเวศที่มีเอกลักษณ์มากมาย เเละยังเป็นแหล่งประมงทั่วโลกซึ่งผู้คนหลายพันล้านคนต้องพึ่งพาอาศัย และเป็นกันชนสำคัญต่อวิกฤตสภาพอากาศ โดยมหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนส่วนเกินของโลกไว้มากกว่า 90% ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

เเต่ถึงอย่างนั้นก็มีความเสี่ยงเช่นกันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้นและน้ำที่เป็นกรดมากขึ้นคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเล กิจกรรมของมนุษย์ในมหาสมุทรกำลังเพิ่มแรงกดดัน รวมถึงการประมงเชิงอุตสาหกรรม การเดินเรือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกที่เพิ่งเกิดขึ้น และการแข่งขันเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของมหาสมุทร ซึ่งเป็นวัสดุจากพืชและสัตว์ทะเลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ 

สนธิสัญญามหาสมุทรมีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้นโดยให้อำนาจทางกฎหมายในการสร้างและจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำสากล ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งนี้มีความสำคัญต่อการประชุมนานาชาติที่ให้คำมั่นสัญญาด้านความหลากหลายทางชีวภาพในการประชุม COP15 ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ต้องยอมรับและให้สัตยาบันสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการ จากนั้นงานจะเริ่มดำเนินการเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำและพยายามบรรลุเป้าหมายในการปกป้อง 30% ของมหาสมุทรทั่วโลก

ข้อมูล :  CNN , bbc