สถานการณ์การซื้อ-ขาย “คาร์บอนเครดิต” ต้นปี 2566

08 มี.ค. 2566 | 01:22 น.

เช็คสถานการณ์การซื้อ-ขาย “คาร์บอนเครดิต” หรือ Carbon Credit ช่วงต้นปี 2566 หลังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เปิดข้อมูลล่าสุดช่วงม.ค.-ก.พ.

"คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) หรือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนําคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายเพื่อนําไปใช้ประโยชน์ได้

ไม่ว่าจะเป็นการนําปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดําเนินงานไปรายงานหรือเปิดเผยข้อมูล การนําไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากองค์กรบุคคลงานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

ตลาดซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ล่าสุด

ล่าสุดเมื่อเริ่มต้นปี 2566 ตลาดซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ในรูปแบบการซื้อขายที่ไม่ผ่านตลาดทางการ หรือ Over-the-Counter (OTC) เริ่มคึกคักมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตใน 2 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 20-218 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สำหรับโครงการ T-VER ที่ผู้ซื้อให้ความสนใจและซื้อไปเพื่อใช้ชดเชยยังคงเป็นโครงการประเภทพลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ ชีวมวล และชีวภาพ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสถิติการรับรองคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ประเภทพลังงานทดแทนมีการรับรองคาร์บอนเครดิตเข้าสู่ตลาดคาร์บอนมากที่สุด ในจำนวนกว่า 8.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็น 59.57% ของปริมาณคาร์บอนเครดิตที่มีการรับรองจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ทั้งหมด

คาร์บอนเครดิตรูปแบบ OTC

สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตในรูปแบบ OTC ผู้ซื้อและผู้ขายจะพิจารณากำหนดราคาโดยขึ้นกับปัจจัยดังนี้

1. ต้นทุนส่วนเพิ่มในการทำโครงการ T-VER เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าจ้างผู้ทวนสอบ ค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตของ อบก.

2. จำนวนปริมาณการซื้อขายในแต่ละครั้ง

3. ผลประโยชน์รวม (Co-benefit) ของโครงการ