Net zero : พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง วิกฤตโลกรวน

08 ก.พ. 2566 | 06:30 น.

Net zero พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง สร้างวิกฤตโลกรวน พร้อมกาง “Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของไทยล่าสุดไปถึงไหนแล้ว

รู้หรือไม่ว่า โลกสร้างขยะพลาสติกแบบใช้เเล้วทิ้ง 139 ล้านเมตริกตันในปี 2564 นี่คือ ดัชนีผู้ผลิตขยะพลาสติก (Plastic Waste Makers Index: PWMI) ประจำปี 2023  ซึ่งมากกว่าในปี 2562 ที่เปิดตัวดัชนีครั้งแรก 6 ล้านเมตริกตัน  ในรายงานยังพบว่าการรีไซเคิลไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วพอที่จะจัดการกับปริมาณพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้น หมายความว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วมีแนวโน้มที่จะถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ บนชายหาด ในแม่น้ำและมหาสมุทรมากกว่าที่จะนำมารีไซเคิล

จากข้อมูลพบว่า ขยะพลาสติกเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ร้อยละ 12 ถูกนำไปเผาซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และที่เหลือร้อยละ 79 ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าโลกกำลังผลิตขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนใหญ่ทำจากโพลิเมอร์ที่สร้างขึ้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แม้ว่าทั่วโลกจะมีความพยายามลดมลพิษพลาสติกและการปล่อยคาร์บอน รายงานพบว่าขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นเกือบ 1 กิโลกรัม (2.2 ปอนด์) สำหรับทุกคนบนโลกนี้

มลพิษพลาสติกเชื่อมโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

นโยบายลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของทั่วโลก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทั่วโลกประกาศนโยบายลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว แบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หลอดแบบใช้ครั้งเดียว ช้อนส้อมแบบใช้แล้วทิ้ง ภาชนะบรรจุอาหาร ฯลฯ 

ในเดือนกรกฎาคม แคลิฟอร์เนียกลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ประกาศเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงการลดการขายบรรจุภัณฑ์พลาสติกลง 25% ภายในปี 2575 เดือนธันวาคม สหราชอาณาจักรขยายรายการสิ่งของต้องห้ามให้รวมถึงถาดแบบใช้ครั้งเดียว ไม้ลูกโป่ง ภาชนะใส่อาหารบางประเภท นอกจากนี้ ยังมีการแบนในสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และอินเดีย รวมถึงที่อื่นๆ 

ไทยก่อ "ขยะพลาสติก" มากแค่ไหน

ประเทศไทยก่อ "ขยะพลาสติก" กว่า 2 ล้านตันต่อปี มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics)

ในปี 2563 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด พบว่า มีขยะพลาสติกประมาณ 6,300 ตัน/วัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ของปริมาณขยะพลาสติกเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันในสถานการณ์ปกติ 

ในช่วงโควิด 19 ระบาดหนักๆ แม้นักท่องเที่ยวจะลดน้อยลงมาก แต่ขยะพลาสติกกลับเพิ่มมากขึ้น ขณะที่โรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของไทย ตั้งเป้าลด เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด และ นำขยะพลาสติก 7 ชนิดมาใช้ใหม่ 50% 

กาง “Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของไทย

ความคืบหน้า “Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของไทย พ.ศ. 2561-2573” เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางการดำเนินท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อไปถึงเป้าหมายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ซึ่ง Roadmap ดังกล่าวมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ล่าสุด ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่2 เน้นย้ำจัดการพลาสติกที่ยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน คลอด 4มาตรการ ตั้งเป้าขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบฝังกลบ100% และลดปริมาณขยะพลาสติกลงสู่ทะเล50% 

มาตรการหลัก 4 ข้อ การจัดการขยะพลาสติก

1.ควบคุม ป้องกัน ลดการเกิดขยะพลาสติก ตั้งแต่การออกแบบการผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนากฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อใช้บริหารจัดการผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 

2.เน้นดำเนินการต่อเนื่องและขยายผลให้ผู้ประกอบการและประชาชนสนับสนุนการลดขยะพลาสติก รณรงค์สื่อสารต่อสาธารณะภายใต้แนวทาง “งดการให้-ปฏิเสธการรับ ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว”

3.เน้นการคัดแยกขยะจากบ้านเรือน อาคาร สำนักงานที่สอดคล้องกับวิธีการกาจัดที่ปลายทาง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ต้องนำกลับเข้าระบบรีไซเคิล และต้องทิ้งเพื่อนำไปกำจัด

4.เน้นการป้องกันการเกิดขยะพลาสติกในทะเล เช่น การคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัดและควบคุมกรณีมีการขนส่งขยะมากำจัดบนฝั่ง วางระบบคัดแยก รวบรวม และการจัดการขยะพลาสติกและขยะประเภทอื่น
 

ข้อมูล : cnn ,thaigov