พพ. คุมอาคารใหม่-ดัดแปลงขนาด 2,000 ตร.ม.ขึ้นไปลดปล่อยคาร์บอน

01 ก.พ. 2566 | 11:51 น.

พพ. คุมอาคารใหม่-ดัดแปลงขนาด 2,000 ตร.ม.ขึ้นไปลดปล่อยคาร์บอน ระบุเป็นกฎหมายสำคัญประหยัดพลังงานภาคอาคารอย่างน้อย 10% ลดการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 47,000 ล้านบาท

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการควบคุมอาคารได้เห็นชอบการนำกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับกับการควบคุมอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 

โดยจะเริ่มใช้บังคับกับอาคารขนาด 5,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไปก่อน และจะบังคับใช้กับอาคารขนาด 2,000 ตร.ม. ขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จะเริ่มใช้กับอาคารขนาดใหญ่ใน  9 ประเภท ได้แก่ 

  • สถานศึกษา 
  • สำนักงาน 
  • อาคารโรงมหรสพ 
  • อาคารห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า 
  • อาคารสถานบริการ 
  • อาคารชุมนุมคน 
  • อาคารโรงแรม 
  • สถานพยาบาล 
  • อาคารชุด 

ที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมกันในหลักเดียวกัน ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ต้องออกแบบให้มีการใช้พลังงานในแต่ละส่วนที่กำหนดให้เป็นไปตามเกณฑ์การใช้พลังงานตามมาตรฐานขั้นต่ำ โดยให้มีผู้รับรองผลการประเมินด้านพลังงานที่ได้รับการรับรองจาก พพ. เป็นผู้รับรองข้อมูลเพื่อประกอบการยื่นตามขั้นตอนปกติในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร  

พพ. คุมอาคารใหม่-ดัดแปลงขนาด 2,000 ตร.ม.ขึ้นไปลดปล่อยคาร์บอน

ดร.ประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า พพ.ได้ริเริ่มพัฒนา และผลักดันกฎกระทรวงการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC เพื่อเป็นมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารดัดแปลง ที่มีการใช้พลังงานสูง ด้วยการกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์และวิธีการออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 กฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ 2563 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว 

สำหรับกฎหมาย BEC จะเป็นประโยชน์และเป็นกลไกสำคัญในการช่วยประหยัดพลังงานในภาคอาคาร โดยอาคารที่ออกแบบผ่านตามมาตรฐาน BEC จะประหยัดพลังงานได้ตั้งแต่ 10–20% ขึ้นอยู่กับวิธีการออกแบบอาคารและการเลือกใช้วัสดุที่ช่วยป้องกันความร้อนได้มากหรือน้อยเพียงใด จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเล็กน้อย เฉลี่ยประมาณ 3 - 5 % และคืนทุนไม่เกิน 3 ปี 

แต่มีความคุ้มค่าในระยะยาว เนื่องจากอาคารมีอายุการใช้งานนาน 20 - 30 ปี ช่วยลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานที่ลดลง สร้างภาพลักษณ์องค์กรหรือธุรกิจที่ให้ความสำคัญและใส่ใจด้านประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อม สร้างธุรกิจผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในอาคารเพิ่มขึ้น 

สร้างโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น ยกระดับมาตรฐานวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในประเทศ ยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพ และช่วยประเทศลดการนำเข้าพลังงาน ลดการใช้ไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 6,850 ตัน