สัญญาณหายนะ ยุโรปเจอคลื่นความร้อนหลงฤดู วิกฤติที่ไม่ควรมองข้าม

05 ม.ค. 2566 | 04:02 น.

มีรายงานว่ายุโรปเจอคลื่นความร้อนหลงฤดู ตั้งแต่ต้นปี เเม้จะบ่งชี้ไม่ได้ว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือไม่ เเต่ก็เป็นวิกฤติที่ไม่ควรมองข้าม

เพิ่งเริ่มต้นปี แต่ยุโรปได้ทำลายสถิติสภาพอากาศที่น่าตกใจเนื่องจากความร้อนจัดแผ่กระจายไปทั่วทวีป แม้ว่าช่วงเวลานี้ในช่วงที่หลายประเทศในยุโรปอยู่ในฤดูหนาว แต่จากรายงานของ CNN ระบุว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมาในระยะเข้าสู่ปีใหม่ได้ไม่กี่ชั่วโมง ชาวยุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อน ด้วยอุณหภูมิทุบสถิติตั้งแต่วันแรกของปี 2023 โดยเฉพาะใน 8 ประเทศ ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลารุส ลิทัวเนีย เดนมาร์ก และลัตเวีย

 

 

 

นักภูมิอากาศวิทยาซึ่งติดตามสถานการณ์อุณหภูมิร้อนจัดทั่วโลก กล่าวว่า นี่คือคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป โดยพิจารณาจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเหนือระดับปกติ เมืองที่มักถูกปกคลุมด้วยหิมะกลับมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึงระดับที่มักจะเห็นในฤดูร้อน โดยอุณหภูมิในหลายพื้นที่ของยุโรปอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงหน้าหนาวถึง 4-10 องศาเซลเซียส   

 

ไม่เพียงแต่ความร้อนจะรุนแรงผิดปกติเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายเป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่พรมแดนของยุโรปกับเอเชียไปจนถึงตอนเหนือของสเปน ถือเป็นครั้งแรกที่คลื่นความร้อนในยุโรปสามารถเทียบเคียงกับความรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอเมริกาเหนือ

 

วาดุซ เมืองหลวงของลิกเตนสไตน์ มีอุณหภูมิสูงสุดที่ 20 องศาเซลเซียส (68 ฟาเรนไฮต์) เมือง Javornik ของสาธารณรัฐเช็กมีอุณหภูมิสูงถึง 19.6 องศาเซลเซียส (67.3 ฟาเรนไฮต์) และหมู่บ้าน Jodłownik ในโปแลนด์ ทำสถิติสูงสุดที่ 19 องศาเซลเซียส องศาเซลเซียส (66 ถือ.2 ฟาเรนไฮต์)

สัญญาณหายนะ ยุโรปเจอคลื่นความร้อนหลงฤดู วิกฤติที่ไม่ควรมองข้าม

 

นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะระบุอย่างมั่นใจว่า ความร้อนจัดนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกำลังเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น

 

สำหรับ คลื่นความร้อน (heat wave) นั้น เป็นผลที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่เห็นได้ชัด รวมทั้ง  ฝนตกรุนเเรงเเละน้ำท่วมหนัก (extreme rainfall and flood) ภัยเเล้งที่ยืดเยื้อ (droughts) เเละการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น (wildfires)

 

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ มีการศึกษาระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มแนวโน้มการเกิดคลื่นความร้อนบนพื้นทวีปราว 5 เท่า เพิ่มแนวโน้มการเกิดคลื่นความร้อนในมหาสมุทร 20 เท่า งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเพิ่มโอกาสที่จะเกิดคลื่นความร้อนในทวีปไซบีเรียมากถึง 600 เท่า

 

เหตุการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัด ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 อินเดียและปากีสถานเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรง เป็นหนึ่งในคลื่นความร้อนที่ร้อนแรงและยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ประเทศทั้งสองเริ่มบันทึกรายงานสภาพอากาศ อุณหภูมิสูงสุดวัดได้บริเวณเมืองจูรูในรัฐราชสถานของอินเดีย อยู่ที่ 50.8 องศาเซลเซียส (123.4 องศาฟาเรนไฮต์)

 

ซึ่งเกือบสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในอินเดีย ณ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 คลื่นความร้อนระลอกนี้กินเวลามาแล้ว 32 วัน นับเป็นคลื่นความร้อนที่กินเวลานานที่สุดเป็นอันดับที่สองเท่าที่เคยบันทึกไว้ อุณหภูมิที่ร้อนจัดและการเตรียมพร้อมรับมือที่ไม่เพียงพอส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในรัฐพิหารแล้วมากกว่า 184 คนโดยมีรายงานผู้เสียชีวิตอีกจำนวนมากในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศในปากีสถาน มีเด็กเล็ก 5 คนเสียชีวิตจากอากาศที่ร้อนจัด

 

คลื่นความร้อนเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่ส่งน้ำสู่เมืองเจนไนได้แห้งเหือด ทำให้มีผู้คนจำนวนนับล้านที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำได้ วิกฤตการณ์น้ำทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงและการขาดความเตรียมพร้อม นำไปสู่การประท้วงและการต่อสู้แย่งชิงน้ำซึ่งทำให้มีผู้ถูกฆ่า ถูกแทง และถูกทุบตี

 

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศสุดขั้วนานาประเทศเเละองค์การระหว่างประเทศทั่วโลกให้ความสนใจเเละร่วมกันหาเเนวทางจัดการ 

  • จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5°C กว่าช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือช่วงกลางของศตวรรษที่ 18
  • กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) หรือให้เข้าใกล้ศูนย์ให้ได้มากที่สุด หรือกระทั่งไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย
  • ความตกลงปารีส (Paris agreement) มุ่งจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เเละสนับสนุนให้ประเทศที่ร่ำรวยช่วยเหลือประเทศที่ฐานะด้อยกว่าในการจัดการกับการเปลี่ยนเเปลงของสภาพภูมิอากาศผ่านเงินทุน

 

ประเทศไทย 

เริ่มนโยบายเเละยุทธศาสตร์ระดับภาครัฐที่สำคัญ ได้เเก่  แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593, แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี พ.ศ. 2564-2573, แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ 

 

คลื่นความร้อน คืออะไร เเละส่งผลอย่างไร 

  • องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) กำหนดนิยามของคลื่นความร้อนไว้ว่าอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน
  • คลื่นความร้อนเกิดจากระบบความกดอากาศสูง ทำให้เกิดการสะสมแรงกดบนชั้นบรรยากาศเหนือพื้นที่หนึ่งซึ่งส่งผลให้กระแสลมไหลเวียนลงและทำหน้าที่เสมือนฝาของโดมความร้อน กักเก็บความร้อนที่สะสมอยู่ที่พื้นราบ ยังผลักกระแสลมเย็นและเมฆออกไปทำให้แสงอาทิตย์สาดมายังพื้นโลกได้โดยไม่มีอะไรกั้น
  • ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะค่อยๆ สะสมในพื้นดิน ทราย คอนกรีต และยางมะตอยโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนของฝั่งซีกโลกเหนือที่จะแกนโลกเอนไปรับแสงอาทิตย์จนทำให้เวลาในช่วงกลางวันยาวนานและอากาศอบอุ่นขึ้น เมื่อความร้อนถูกสะสมและไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ อุณหภูมิก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • คลื่นความร้อนพบได้มากในพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ทะเลทราย รวมถึงพื้นที่สูงซึ่งมักอยู่ภายใต้ระบบความกดอากาศสูงเป็นประจำ 

 

  • คลื่นความร้อนส่งผลอย่างรุนแรงต่อประชาชนผู้อยู่อาศัย อากาศที่ร้อนทำให้เกิดโรคเพลียแดดและโรคลมแดดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถทนความร้อนได้ นอกจากนี้ความร้อนยังทำให้ร่างกายขาดน้ำ เกิดภาวะหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน  และอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย อันตรายจะมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง กลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กซึ่งจะเผชิญความเสี่ยงมากกว่า
  • ประเทศเขตร้อนอาจไม่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนรุนแรง เนื่องจากอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยกว่าพื้นที่เขตหนาวหรือเขตอบอุ่น
  • ประเทศโซนอากาศหนาวและอบอุ่นมีประสบการณ์น้อยกว่าในการเผชิญความร้อนสูงทำให้ขาดแคลนอุปกรณ์สำคัญอย่างเครื่องปรับอากาศซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในเขตเส้นศูนย์สูตร เมื่อเกิดคลื่นความร้อนเฉียบพลัน ภาครัฐจึงต้องจัดหาพื้นที่พักที่ติดเครื่องปรับอากาศเพื่อเป็นที่หลบภัยของประชาชน
  • กระทบต่อชุมชนที่ยากจนมากกว่าที่อยู่อาศัยของคนร่ำรวย เนื่องจากชุมชนคนจนนั้นมีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่าและคนจนไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออุปกรณ์เพื่อรับมือกับภัยพิบัติคลื่นความร้อนที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง 
  • ส่งผลต่อผลิตภาพของภาคการเกษตร  อีกทั้งเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะในมหาสมุทร ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ปรากฎการณ์คลื่นความร้อนทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง 

 

เเน่นอนว่านี่น่าจะมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหากไม่ลดการปลดปล่อยคาร์บอน วงจรวิกฤตนี้ก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ปัญหาท้าทายที่โลกต้องเร่งจัดการ 

 

ข้อมูล CNN , ป่าสาละ , sdgmove , World Meteorological Organization