BCG คืออะไร ทำไมมีทั้งคนหนุน และ คัดค้าน

18 พ.ย. 2565 | 10:40 น.

BCG คือ แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยไม่ทำลายทรัพยากรโลก เป็นเมกะเทรนด์สำคัญของโลก ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เหตุใด ในประเทศไทย จึงมีทั้งผู้เห็นด้วย และคัดค้าน

แนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy : BCG ) เป็นเมกะเทรนด์สำคัญของโลก ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ ในการประชุมสุดยอดเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพนั้น ประเทศไทย ชูแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจบีซีจี(BCG) เป็นบรรทัดฐานในการทำธุรกิจ-การค้า-การลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิก และยังกำหนด เป็นวาระแห่งชาติ แต่เหตุใด ในประเทศไทย จึงมีทั้งผู้สนับสนุน และ คัดค้าน

 

การประชุมสุดยอดเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพนั้น ประเทศไทย ชูแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือที่เรียกว่า แนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy : BCG ) มาเป็นบรรทัดฐานในการทำธุรกิจ-การค้า-การลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิก โดยจะมีการบรรจุไว้ในแถลงการณ์ผู้นำ ที่เรียกว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯ” หรือ “Bangkok Goals” 

 

นอกจากนั้น ในการประชุมเพื่อพิจารณาแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569  พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้เห็นชอบกรอบแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 เป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อเพิ่ม GDP อีก 1 ล้านล้านบาท ใน 6 ปี

BCG คืออะไร 

BCG ย่อมาจาก  Bio , Circular และ Green ถือเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญ หรือเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อน ที่กำลังเป็นตัวบั่นทอนทรัพยากรโลก

 

B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เป็นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม 

 

C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ใน 3 เรื่องหลัก คือ การใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร (Reuse, Refurbish, Sharing) การแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) และการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero-Waste)

 

G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม

 

BCG Model กับ ประเทศไทย

ประเทศไทย มี คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) เพื่อ ขับเคลื่อน BCG Model ให้สามารถ ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึง , กระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ , สร้างให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในบางสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ โดยต้องขับเคลื่อนร่วมกันระหว่าง ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา ประชาสังคม โดย กระทรวง อว. จะขับเคลื่อนศักยภาพของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่มีอยู่ภายใต้กระทรวง ทั้งในมิตินักวิจัย องค์ความรู้ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (National Quality Infrastructure: NQI) และการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม

ประโยชน์ของ BCG

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สรุปไว้ว่า BCG Economy Model จะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายมิติ และหลายด้าน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้านำแนวคิดเรื่อง BCG มาใช้ จะทำให้คนตกงาน เริ่มหันกลับมาสนใจการทำงานในภาคการเกษตร ช่วยลดภาวะการว่างงาน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านเกษตรอาหาร
  • ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับที่ดี ในแง่ของการผลิต ไทยผลิตอาหารได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ผลิตอาหารประเภทส่วนเกิน คือ กลุ่มอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล ในจำนวนมาก ขณะที่อาหารประเภทโปรตีน กลับผลิตได้ไม่เพียงพอ จึงต้องพยายามปรับให้การผลิตอาหารประเภทส่วนเกินมาเป็นโปรตีน เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ ด้วยการนำแนวทาง BCG เข้าไปช่วย และทำให้กลุ่มคนทุกระดับ ได้รับสารอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้ เกิดความมั่นคงด้านอาหาร
  • ด้านพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติมาก ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 60% และมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในอนาคต BCG จะเข้ามาช่วยให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากเดิม 16.5% ในปี 2562 เพิ่มเป็น 20%
  • ด้านสุขภาพ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มยา และเวชภัณฑ์ ในปัจจุบันทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมกำลังศึกษาเรื่องการผลิตยา เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดการนำเข้ายาในอนาคต เช่นเดียวกับวัคซีนที่อยู่ในขั้นการทดลอง เพื่อนำมาใช้จริง
  • ด้านความยั่งยืน เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ คาดหวังว่าเมื่อทำ BCG ได้แล้ว จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงไป อีกทั้งยังสามารถลดมลพิษ เช่น PM 2.5 ขยะ น้ำเสีย การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลสัตว์สูญพันธุ์
  • ด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเดิมอาจทำให้ธรรมชาติสึกหรอ แต่เมื่อมีการวางแผนการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติ จะทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

 

กลุ่มผู้คัดค้าน BCG

แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มนักวิชาการ และ NGO จำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย หรือคัดค้าน การขับเคลื่อน BCG ในประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา ‘วิพากษ์การประชุม APEC และแผนปฏิบัติการ BCG เพื่อผลประโยชน์ใคร’ โดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จัดร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 

 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้กล่าวว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2551 ก็ทำให้มีขยะมีพิษจำนวนมหาศาลถูกนำเข้ามาทิ้งในไทย และ สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นหาก BCG Economy Model ของไทยสามารถผลักดันสู่เวที APEC 2022 ได้สำเร็จ เพราะจะมีขยะอันตรายอย่างพลาสติกถูกนำมารีไซเคิลบนแผ่นดินไทยมากขึ้น

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Greenpeace Thailand ได้กล่าวถึง แผนการลดโลกร้อนและการวางแผนปลูกป่าของไทยที่กำลังมีปัญหา ข้อสังเกตสำคัญคือ ประเทศไทยมีแผนการ Net Zero ที่กำหนดให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 ภาครัฐไทยจึงตัดสินใจเลือกกลุ่มทุนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ ในภารกิจเหล่านี้ 

 

ภาครัฐที่กำลังพยายามปลูกป่าจะหาพื้นที่มาจากไหนโดยที่ไม่ไปยึดพื้นที่จากประชาชน และการนำพื้นที่ป่าของชุมชนมาค้าคาร์บอนเครดิต จะนำไปสู่ ‘การล่าอาณานิคมคาร์บอน’ (Carbon Colonialism) ในอนาคตเหมือนประเทศอื่นๆ กำลังเผชิญหรือไม่ โครงการใหญ่ที่เต็มไปด้วยเอกชนผูกขาดอย่าง BCG จึงต้องถูกจับตาและถามคำถามต่อไปในอนาคต

 

ธาราระบุว่า คนไทยเป็น ‘หนี้’ ระบบนิเวศไปแล้ว ดังนั้นแนวคิด BCG อาจไม่ถึงขั้นเลวร้าย เพราะเป็นวิธีเดียวกับที่ทั่วโลกผลักดัน แต่ปัญหาคือประเทศไทยมีสภาวะ ‘ลับ-ลวง-พราง’ มาก และหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะยิ่งทำให้ศักยภาพของระบบนิเวศไทยต่ำลงเรื่อยๆ โครงสร้างของ BCG ที่ไม่พูดถึงรากฐานทางสังคม หากถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนผูกขาดแบบนี้ต่อไป จะเป็นการกระทบและรุกรานรากฐานของสังคมที่หรือไม่