net-zero

สงครามภาษีทรัมป์ ปิดประตูอนาคตพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ

    การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมสงครามภาษีกับจีน อาจไม่ใช่เเค่สั่นคลอนเศรษฐกิจโลก แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ โดยตรง

การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เกิดความกังวลว่า "สภาพภูมิอากาศ" อาจกลายเป็นเหยื่อของสงครามการค้า

หลังจาก "วันปลดปล่อย" ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจได้เตือนว่า การเก็บ "ภาษีศุลกากร" จำนวนมากอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน รวมถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการพลังงานสะอาดที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

ความกลัวต่อ "ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" ทั่วโลกที่ยืดเยื้อยังส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซลดลง ทำให้การก่อมลพิษมีต้นทุนถูกลง และยากขึ้นในการหาเหตุผลสนับสนุนการลงทุนในทางเลือกที่สะอาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบทำความร้อนที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ สำหรับครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างหนัก

แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ การตัดสินใจของทรัมป์ในการเก็บภาษีการค้าระดับสูงสุดต่อ "จีน" ซึ่งเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนเป็นอันดับสองของโลก

โศกนาฏกรรมสำหรับสหรัฐฯ

มีการคาดการณ์ว่า สหรัฐฯ จะล้าหลังประเทศอื่นในการพัฒนา เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพราะถูกตัดขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงานสะอาดราคาถูกที่พัฒนาขึ้นในจีน เป็นการกระทบต่อผู้พัฒนาโครงการพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากคำมั่นของรัฐบาลทรัมป์ที่จะย้อนกลับแรงจูงใจด้านพลังงานสะอาดในยุคไบเดน

เลสลี่ อับราฮัมส์ รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า ภาษีศุลกากรน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ และผลักดันประเทศไปสู่ขอบของตลาดโลก โดยเฉพาะคาดว่าจะทำให้ต้นทุนการพัฒนาพลังงานสะอาดสูงขึ้น เนื่องจาก สหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างมาก

ไม่ใช่แค่การนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป แม้แต่การผลิตที่เราทำในสหรัฐฯ ก็ยังพึ่งพาชิ้นส่วนที่นำเข้า

เป้าหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการพัฒนาฐานผลิตโดยการเปิดโรงงานใหม่อาจทำให้ชิ้นส่วนมีจำหน่ายในประเทศ แต่คงต้องใช้เวลา นอกจากนี้ยังจะมีต้นทุนที่สูง เนื่องจากวัสดุที่นำเข้าเพื่อสร้างโรงงาน เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม จะต้องเสียภาษีศุลกากรด้วย 

เเละยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งอาจทำให้การเข้าถึงเงินทุนราคาถูกเพื่อการก่อสร้างเป็นเรื่องยาก นักลงทุนที่เคยแสดงความสนใจในสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไบเดน มีแนวโน้มจะลังเลต่อการต่อต้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงจากทำเนียบขาว

หมายความความการลงทุนที่อ่อนแอลงในการขยายโครงการพลังงานสะอาดทั่วสหรัฐฯ และในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในระยะเริ่มต้นของอนาคต น่าจะมีผลกระทบในระยะยาวต่อสถานะของสหรัฐฯ ในตลาดพลังงานสะอาดโลก 

ในทางกลับกัน จีนมีแนวโน้มที่จะเบนการขายเทคโนโลยีพลังงานสะอาดออกจากสหรัฐฯ ไปยังประเทศอื่น ๆ ที่กระตือรือร้นในการพัฒนาพลังงานสะอาด

พลังงานสะอาดไม่อาจหยุดยั้งได้ 

คิงส์มิลล์ บอนด์ นักยุทธศาสตร์จากกลุ่มวิจัยด้านพลังงาน Ember กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องแยกแยะระหว่างสหรัฐฯ กับส่วนที่เหลือของโลก ยิ่งสหรัฐฯ ตัดขาดตัวเองจากส่วนที่เหลือของโลกมากเท่าไร ส่วนที่เหลือของโลกก็จะดำเนินการต่อไป และสหรัฐฯ จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เป็นโศกนาฏกรรมสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ แต่สำหรับคนอื่น ๆ นี่คือโอกาส

การวิเคราะห์โดยกลุ่มรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศ 350.org พบว่า แม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นและการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ จะลดลง แต่สงครามการค้าของทรัมป์จะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการค้าพลังงานหมุนเวียนในระดับโลก

กลุ่มดังกล่าวระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ใช่ผู้เล่นหลักในเวทีโลก ในการแข่งขันเพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีเพียง 4% ของการส่งออกเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของจีนที่ส่งไปยังสหรัฐฯ เท่านั้น ขณะที่ภาคการค้านี้มีปริมาณการขายเติบโตประมาณ 30% ในปีที่ผ่านมา

ภาษีของทรัมป์จะไม่ทำให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกช้าลง เเต่จะส่งผลกระทบต่อผู้คนธรรมดา โดยเฉพาะชาวอเมริกัน การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่หยุดยั้งไม่ได้ ไม่ว่าทรัมป์จะอยู่หรือไม่ก็ตาม การเคลื่อนไหวล่าสุดของเขาแทบไม่มีผลกระทบต่อตลาดพลังงานสะอาดที่กำลังบูม แต่จะทำให้สหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยว และเพิ่มต้นทุนให้กับผู้บริโภคชาวอเมริกัน

ประเทศที่มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์จากความสนใจใหม่ของนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่และมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ออสเตรเลียและบราซิลก็เป็นอีกสองประเทศที่มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์

ช่วงเวลาเช่นนี้ ประเทศต่าง ๆ จะมองหาวิธีแก้ปัญหาในประเทศของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นหมายถึงพลังงานสะอาดและห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่น เราเคยมีเหตุผลด้านสภาพภูมิอากาศในการไปสู่ความเขียว แต่ตอนนี้ยังมีเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศด้วย

ความท้าทายสำหรับรัฐบาลที่หวังจะคว้าโอกาสจากการถอยของสหรัฐฯ คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่กำลังหวาดหวั่นว่า ประเทศของตนเป็นที่ปลอดภัยในการลงทุนตามวาระด้านสภาพภูมิอากาศ

สหรัฐฯ ยังมีความสำคัญ

แม้ว่าการชะลอตัวของการลงทุนสีเขียวอาจจำกัดอยู่เพียงในสหรัฐฯ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อความก้าวหน้าด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ตามคำกล่าวของ มารีนา โดมิงเกส หัวหน้าฝ่ายพลังงานใหม่ของบริษัทที่ปรึกษา Rystad Energy

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นทุกสิ่งที่สหรัฐฯ ทำก็ยังคงมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกและต่อการคำนวณการปล่อย CO₂

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีน ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าสหรัฐฯ เกือบสามเท่า แต่การที่สหรัฐฯ ถอยจากเส้นทางพลังงานสีเขียวเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังวางแผนจะเพิ่มความต้องการพลังงานในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

หลังจากหลายปีที่ความต้องการพลังงานในสหรัฐฯ ค่อนข้างคงที่ มีการคาดการณ์ว่า การบริโภคไฟฟ้าของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 10% จากการขยายตัวของศูนย์ข้อมูล AI เพียงอย่างเดียว เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น เมื่อการนำเข้าจากจีนลดลง

หากไม่มีอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่เติบโต สิ่งนี้อาจหมายถึงการกลับไปใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น และปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น สหรัฐฯ คาดว่าจะใช้ก๊าซที่มีอยู่มากมายในประเทศ และยังมีแผนจะใช้ถ่านหินมากขึ้นด้วย

ในสัปดาห์เดียวกับที่ทรัมป์ประกาศภาษีศุลกากร เขายังลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารอีก 4 ฉบับ ที่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ ยกเลิกการใช้ถ่านหิน ซึ่งนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศจาก 350.org เรียกว่า เป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด

ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดบางประการที่ภาษีศุลกากรกำลังจะมีต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

แบตเตอรี่

แบตเตอรี่สำหรับระบบโครงข่ายพลังงาน (grid batteries) กำลังเผชิญกับภาษีศุลกากรราว 65% ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 80% ภายในปีหน้า ขณะที่สหรัฐฯ กำลังจะขยายการใช้งานระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่อย่างเป็นประวัติการณ์

เดือนกุมภาพันธ์ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (U.S. Energy Information Administration) คาดการณ์ว่าในปี 2025 จะมีการเพิ่มกำลังการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ในระดับยูทิลิตี้ (utility-scale) เข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าของสหรัฐฯ ถึง 18.2 กิกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่จำเป็นต่อเป้าหมายนี้ ส่วนใหญ่ยังคงต้องนำเข้าจากประเทศจีน ในเดือนธันวาคม 2024 การส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากจีนไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่มูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และแม้ว่าในระดับโลก ราคาของแบตเตอรี่จะมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากภาวะอุปทานล้นตลาด แต่ภาษีศุลกากรจะทำให้ต้นทุนในสหรัฐฯ สูงขึ้น

การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ หลายรายได้พยายามเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ภายหลังรัฐบาลไบเดนออกนโยบายให้ 50% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้าภายในปี 2030 และรัฐหลายแห่งออกนโยบายของตนเองในการมุ่งสู่การปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ แต่ภาษีศุลกากรของทรัมป์ รวมถึงนโยบายอื่น ๆ ที่ต่อต้าน EV ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะทำให้ความก้าวหน้าดังกล่าวชะลอตัวลง

รัฐบาลทรัมป์ยังคงนโยบายจากยุคไบเดนที่กำหนดภาษีศุลกากร 100% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน ซึ่งแทบจะเป็นการห้ามจำหน่ายรถยนต์ดังกล่าวในสหรัฐฯ ทั้งที่ความนิยมของ EV จากจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ

พลังงานแสงอาทิตย์

อุปกรณ์โซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกจัดส่งมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรในระดับสูงที่สุด บรรดาผู้พัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ ได้เร่งสะสมสต๊อกแผงโซลาร์เซลล์ล่วงหน้าไว้ก่อนการเก็บภาษี

Bloomberg รายงานว่า คลังสินค้าส่วนเกินดังกล่าวอาจช่วยให้อุตสาหกรรมไม่ต้องเผชิญกับแรงกระแทกเต็มรูปแบบจากภาษีศุลกากรทันที

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อุปทานในประเทศอาจไม่สามารถรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อห่วงโซ่อุปทานในสหรัฐฯ ยังไม่ได้ถูกพัฒนาให้แข็งแรงเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการเหล่านั้น

ขณะที่ต้นทุนของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอาจเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ต้นทุนของเชื้อเพลิงฟอสซิลก็อาจเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในระดับที่มีภาษีศุลกากรจากประเทศที่ต้องพึ่งพาในด้านพลังงาน แม้ว่าจะหันกลับไปใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ยังต้องจ่ายราคาที่เพิ่มขึ้นจากภาษีผ่านเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ดี

โดยเฉพาะ รัฐมิชิแกน มินนิโซตา และนิวยอร์ก พึ่งพาพลังงานจากแคนาดา ซึ่งขณะนี้คาดว่าจะมีราคาสูงขึ้นจากภาษีศุลกากร 10%

ไมเคิล เมห์ลิง รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมแห่ง MIT กล่าวว่า ภาษีศุลกากรยังมีแนวโน้มทำให้ต้นทุนการขุดเจาะพลังงานเพิ่มสูงขึ้น แม้จะเป็นยุคที่ทรัมป์สนับสนุนคำขวัญ “ขุดให้สุด” (drill baby drill)

ลองนึกถึงเหล็ก อะลูมิเนียม และวัสดุอื่น ๆ ที่บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องการในปริมาณมากสำหรับการขุด การขนส่ง และการแปรรูปเชื้อเพลิง ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อของภาษีศุลกากรไม่ได้เป็นเพียงต้นทุนเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าเท่านั้น แต่มันยังส่งผลกระทบลุกลามต่อระบบอื่น ๆ ด้วย

อ้างอิงข้อมูล 

  • theguardian
  • time