นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า IRPC ได้ดำเนินการลงทุนใน บริษัท คลีนเทค แอนด์ บียอนด์ จำกัด (Cleantech & Beyond) โดยเป็นการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property (IP) ของ IRPC ซึ่งเกิดจากงานวิจัยที่ทำงานร่วมกับ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) มาแปลงเป็นหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วน 27.3% ใน บริษัท คลีนเทค แอนด์ บียอนด์ จำกัด
ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวสอดคล้องตามแผนกลยุทธ์ เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ในบริษัท Startup ต่อยอดธุรกิจ สร้างความเติบโตเข้มแข็งให้กับบริษัทฯ และแผนสร้างการเติบโตในระยะยาวและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ ด้วยนวัตกรรมด้านวัสดุ ขั้นสูง (Advance materials) สำหรับอุตสาหกรรมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เช่น ใช้ติดเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ เพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ หรือความเสียหายของอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมด้านการขนส่งสินค้า (Logistic) โดยใช้ติดกับสินค้าที่ต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำ เช่น ไวน์ อาหาร และวัคซีน เป็นต้น
นายกฤษณ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติ การเข้าลงทุนในบริษัท Cleantech & Beyond โดยการเข้าถือหุ้นเพิ่มทุนครั้งดังกล่าวนี้ จะขยายการเติบโตและต่อยอดทางธุรกิจให้กับบริษัทฯ สามารถนำผลงานวิจัยมาใช้ ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผ่านกลไกการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Startup
อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสเข้าไปในระบบนิเวศของ Startup เพื่อเชื่อมต่อความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ นำไปสู่ความก้าวหน้าในกลยุทธ์การลงทุนแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว
สำหรับบริษัท คลีนเทค แอนด์ บียอนด์ จำกัด (Cleantech & Beyond) เป็นบริษัท Startup ที่เกิดจากงานวิจัยร่วมกันระหว่าง IRPC กับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี Digital Temperature Indicator (DTI) ที่สามารถตรวจจับอุณหภูมิ
และแสดงผลด้วยการเปลี่ยนแปลงสีเมื่ออุณหภูมิเกินค่าที่กำหนด โดยเชื่อมต่อกับระบบ RFID (Radio Frequency Identification) ทำให้สามารถตรวจสอบวัตถุแบบกลุ่ม (Bulk Level) ได้ในครั้งเดียว และที่สำคัญไม่สามารถย้อนกลับได้ ถือว่าเป็น Data Logger ประเภทหนึ่ง ที่ช่วยตรวจสอบติดตามสภาวะการทำงานของอุปกรณ์ สินค้า และวัตถุรายชิ้น (item - level) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยคุณสมบัติการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Wireless communication) และการทำงานโดยไม่ต้องอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ ปัจจุบันนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) และอุตสาหกรรมด้านการขนส่งสินค้า (Logistic)