"ปรากฏการณ์โคโรน่า" เกิดเสียงซ่า-แสงสีม่วงบนเสาไฟฟ้าแรงสูง ไม่ใช่ไฟไหม้

15 มี.ค. 2567 | 00:39 น.

"ปรากฏการณ์โคโรน่า" เกิดเสียงซ่า-แสงสีม่วงบนเสาไฟฟ้าแรงสูง ไม่ใช่ไฟไหม้ กฟผ.ยืนยันไม่อันตรายต่อผู้อาศัยใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า ชี้อาจะก่อให้เกิดความรำคาญจากเสียง และแสงที่เกิดขึ้น

ช่วงที่ผ่านมามีปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นบนเสาไฟฟ้าที่ทำให้ประชาชนเกิดความตกใจ 

ทั้งนี้ เนื่องจากปรากฎการณ์ดังกล่าวจะมีลักษณะของการเกิดเสียงซ่าๆ หรือแสงสีม่วงเรืองแสงบนเสาไฟฟ้าแรงสูง 

จนทำให้ผู้ที่พบเห็น หรืออาจได้ยินในช่วงนี้นั้นคิดว่าเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้เสาส่ง 

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “ปรากฏการณ์โคโรน่า
 

ปรากฏการณ์โคโรน่าคืออะไร

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อธิบาย “โคโรน่า” เป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในระบบส่งจ่ายไฟฟ้าแรงสูง 

โดยมีสาเหตุจากสภาพอากาศร้อนจัดแห้งแล้ง และฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ทำให้บริเวณผิวลูกถ้วยสกปรก 

สภาพความเป็นฉนวนลดลง เกิดความเครียดของไฟฟ้าสูง ทำให้อากาศบริเวณโดยรอบเกิดการแตกตัวออกมาในรูปของเสียงและแสง
 

ไม่อันตรายต่อผู้อาศัยใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า

กฟผ. ระบุด้วยว่า "ปรากฏการณ์โคโรน่า" ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อาศัยใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า เพียงก่อให้เกิดความรำคาญจากเสียงและแสงที่เกิดขึ้น

ส่วนแนวทางการดำเนินการนั้น กฟผ. ได้เฝ้าติดตามการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงวางแผนดำเนินการดูแลอย่างใกล้ชิด ในการทำความสะอาดชุดลูกถ้วยในระบบส่งจ่ายไฟฟ้าแรงสูง

หรือปรับเปลี่ยนลูกถ้วยชนิดพิเศษที่ทนทานต่อค่าความสกปรกได้มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว