"ปลัดพลังงาน"ชี้รัฐบาลนี้เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาไม่จบคงหมดหวัง

14 ก.พ. 2567 | 09:18 น.
อัพเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 09:18 น.

"ปลัดพลังงาน"ชี้รัฐบาลนี้เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาไม่จบคงหมดหวัง ระบุหากสำเร็จจะช่วยให้ค่าไฟถูกลงได้ ยันราคาพลังงานสำคัญต่อการเป็นอยู่ของประชาชน เผยล่าสุด ปตท. และกฟผ.แบกภาระกว่าแสนล้านบาท

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานเสวนา Thailand Energy Executive Forum หัวข้อ "ทิศทางพลังงานไทยปี 2567" จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas : OCA) ซึ่งถือเป็นความหวังในการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ หากรัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องหวังรัฐบาลชุดอื่น 

ทั้งนี้ หากเจรจาสำเร็จก็จะช่วยให้ค่าไฟถูกลงได้ โดยการจะมุ่งไปที่พลังงานสะอาดหากจะให้มั่นคงจะต้องดูว่าอะไรที่พอทำได้ ซึ่งประเด็นเรื่องราคาก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อราคาลงมาจึงนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนให้การใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งแสงแดดและลมมีความมั่นคงเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ได้พยายามให้มีการผลิตแบตเตอรี่มากขึ้นทั้งในรถยนต์ และเสริมด้านไฟฟ้าเพราะต้นทุนการใช้ไฟฟ้าผ่านโซลาร์อย่างเดียวค่าไฟจะอยู่ที่ประมาณ 2 บาท เมื่อรวมกับก๊าซจะอยู่ที่ 3 บาท แต่ถ้าเป็นแบตเตอรี่จะขึ้นมาที่ 4-5 บาท ดังนั้น ในระยะยาวราคาจะลงมาราว 3 บาทได้ ดังนั้น ในช่วงนี้ รัฐบาลจึงต้องเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อให้ราคาไม่สูงมากนัก

"ราคาพลังงานสำคัญต่อการเป็นอยู่ของประชาชน กระทรวงพยายามไม่ให้ค่าไฟและน้ำมันสูงเกินไปโดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วย และให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระไว้ก่อน โดยปัจจุบัน ปตท.รับไว้ที่หลักหมื่นล้านบาท ส่วนกฟผ.เกือบแสนล้านบาท ซึ่งก็ต้องคืน และตั้งเป้า 3-4 ปีนี้จะดึงเงินเข้ากองทุนฯ ให้ได้"

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ปี 2566 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะภาคไฟฟ้า หากเทียบสัดส่วนก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนการใช้น้ำมันถือว่ากลับมาในปริมาณเท่าปี 2562 เว้นแต่น้ำมันเครื่องบิน (Jet-A1) ยังอยู่ในระดับ 80%

โดยปี 2566 ยอดการใช้ไฟฟ้าทะลุ 2 แสนหน่วย ซึ่งถือว่ามากที่สุด รวมถึงการใช้ไฟฟ้าพีคสูงสุดกว่า 34,827 เมกะวัตต์ ในช่วงเดือน พ.ค. 2566 ถือเป็นจุดที่น่าสนใจว่าการใช้ไฟพีคนี้เกิดขึ้นในเวลา 3 ทุ่มกว่า ต่างจากเมื่อก่อนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 14.00-15.00 น.

สำหรับปัจจัยการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเวลากลางคืนมีนัยยะสำคัญมาจาก 1. การใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน เมื่อกลับมาถึงบ้าน ด้วยความร้อนระหว่างวันทำให้อุณหภูมืในห้องอบอ้าวจึงต้องเปิดแอร์เพื่อลดอุณหภูมิ ,2.การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ที่มีปริมาณสูงเกือบ 5 เท่า จากตัวเลขการจดทะเบียน 1 แสนคันที่นิยมชาร์จไฟฟ้าในเวลากลางคืน 

และ3.การติดแผงโซลาร์ ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าได้เฉพาะในเวลากลางวัน ดังนั้น การใช้ไฟของ 3 การไฟฟ้าจึงสูงเวลากลางคืน 
 
ซึ่งจะเห็นชัดว่าจากการขอใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์มีอัตราเพิ่มขึ้นมากจากก่อนหน้านี้ยังไม่เป็นที่นิยมปีละหลัก 100 กว่าราย แต่ปัจจุบันยอดขอติดตั้งเฉลี่ยเดือนละกว่า 100 ราย และปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยอีกปัจจัยมาจากการที่กระทรวงอุตสาหกรรม ปลดล็อคในเรื่องของการขอใบอนุญาต รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น เป็นต้น 
 
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญเรื่องของพลังงาน คือ ราคา ความมั่นคง และสะอาด รัฐบาลทุกยุคต่างให้ความสมดุลทั้ง 3 เรื่อง โดยเฉพาะความมั่นคง จะเห็นได้ว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับอนุญาตแหล่งก๊าซเอราวัณ ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลง จึงต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG และเป็นจังหวะเดียวกับวิกฤติสงครามรีสเซียและยูเครน และสถานการณ์ตะวันออกกลาง ทำให้ราคาก๊าซตลาดโลกสูงขึ้นโดยปี 2564-2565 ราคาเฉลี่ยรวม 80 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่วนช่วงปี 2566 อยู่ที่ 30-40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งแนวโน้วปีนี้ราคาพลังงานได้เริ่มลงลงเหลือราว 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

"กระทรวงพยายามเร่งกำลังการผลิตแหล่งเอราวัณให้สามารถดึงก๊าซในอ่าวไทยให้ได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเม.ย. 2567 ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้า เมื่อรวมกับพลังงานหมุนเวียนที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับซื้อไปแล้วกว่า 5 พันเมกะวัตต์ จะเริ่มทะยอยเข้ามาในระบบจะทำให้ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดมากขึ้น เพราะทั่วโลกต่างถามหาแต่พลังงานสะอาด ทั้งการลงทุนและการค้าโดยสินค้าส่งออกไปต่างประเทศเรียกร้องถึงสินค้าที่ผลิตจะกำหนดค่าของการปลอดปล่อยคาร์บอน"

อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมหากต้องการพลังงานสะอาดจะต้องจ่ายเงินที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับใบรับรองว่าไฟฟ้าที่ผลิตสินค้ามีการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้เปิดประชาพิจารณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีเอกชนขอจองการซื้อเข้ามาแล้ว ทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ