"ปตท."ชี้ไทย-กัมพูชาต้องเลิกแบ่งพื้นที่ทับซ้อน มุ่งใช้วัตถุดิบร่วมกัน

14 ก.พ. 2567 | 07:46 น.

"ซีอีโอปตท. อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" ชี้ ไทย-กัมพูชา ต้องเลิกแบ่งพื้นที่ทับซ้อน มุ่งใช้วัตถุดิบร่วมกัน ชี้ไทยมีท่อก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานอยู่ใกล้ การจะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ง่าย และการส่งไปกัมพูชาสะดวก

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนาด้านพลังงานประจำปี ระดับประเทศ “THAILAND ENERGY EXECUTIVE FORUM” ช่วงเสวนาเรื่อง "ทิศทางพลังงานไทยปี 2567" ถึงกรณีข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas –OCA) ว่า ในมุมของ ปตท. อาจจะมีโมเดลที่ให้ศึกษาเป็นตัวอย่างได้ เช่นพื้นที่ไทย-มาเลเซีย ซึ่งเรื่องการแบ่งดินแดนนั้นไม่น่าจะสรุปได้ เพราะเข้าใจเลยว่าการแบ่งพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียวก็ต้องมีปัญหา 

แต่หากมาหารือกันเรื่องของวัตถุดิบที่อยู่ใต้ดิน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่หารือกันได้ไม่ยาก ว่าจะมาแบ่งกันอย่างไร เพราะประเทศไทยมีท่อก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานใกล้ ๆ พื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว การที่จะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ก็ง่าย และหากจะมีการส่งไปยังกัมพูชาก็สะดวกเช่นเดียวกัน

"โมเดลที่จะนำวัตถุดิบขึ้นมาใช้ รวมถึงพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และให้กัมพูชามาลงทุนกับไทยได้ เพื่อแบ่งส่วนแบ่ง 50% ที่จะเป็นของกัมพูชาไปก็ได้ โดยต้องยอมรับว่าโมเดลทางด้านธุรกิจนั้นไม่ยากเลย แต่ทางด้านการเมืองก็ยังน่าเห็นใจ พูดตรง ๆ เลยว่าที่มีปัญหากัมพูชาไม่น่าจะมี มีแต่ในประเทศไทยนี่แหละ ที่มีการพูดเรื่องนี้ตลอด เดี๋ยวก็หาว่าขายชาติบ้าง ซึ่งน่าจะต้องลดในส่วนดังกล่าวงนี้เพื่อให้เกิดข้อสรุป และจะได้ไม่เกิดปัญหา"

นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท. มีภารกิจคือการสร้างความมั่นคงพลังงานของประเทศ ไม่ว่าหน้าตาของพลังงานประเทศจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ปตท. ก็จะต้องตามไปทำ โดยที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และสภาพสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนนั้น เพิ่มขึ้นสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่มีสถานการณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ความคลี่คลายจากสถานการณ์ต่าง ๆ ก็ส่งผลให้ราคาพลังงานในปี 2567 นั้นจะลดลง โดยราคาน้ำมันจะอยู่ในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่อยู่ที่ 101-102 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติก็จะลดลงมาอยู่ในกรอบ 7-12 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเกิดการปะทุความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาอีก รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของโลก สภาพภูมิอากาศในแหล่งผลิต และการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน

"ต้องยอมรับว่าพลังงานในทุกรูปแบบของประเทศไทยที่เราใช้อยู่ต้องมีการนำเข้า แต่ในภาคของความมั่นคง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานยังมีความแข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารจัดการของ ปตท. และนโยบายของภาครัฐสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตมาได้ตลอด ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในประเทศไม่ขาดแคลน"

นายอรรถพล กล่าวว่าเป้าหมายของพลังงานในประเทศ จะต้องยึด 3 หลักสำคัญคือ 1.พลังงานต้องมีความมั่นคงเข้าถึงได้ 2.ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาเทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอน และ 3.ต้องมีราคาที่เหมาะสม ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ

โดยในอนาคตเชื้อเพลิงไฮโดนเจนเป็นเรื่องที่น่าสน ซึ่งหากมีหน่วยงานเข้ามาอุดหนุนเรื่องนี้ให้เกิดเป็นโครงการต้นแบบประเทศไทยก็จะสามารถก้าวได้ทันกระแส ซึ่ง ปตท. มองว่าไฮโดนเจนกับด้านการคมนาคมหรือยานยนต์นั้นอาจจะพัฒนาได้ยาก เนื่องจากตอนนี้เสียงยังถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่ายจากกลุ่มประเทศญี่ปุ่นที่เห็นด้วยและเร่งพัฒนาใช้ไฮโดรเจน กับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่ยังมองเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ก่อน เพราะโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาไม่เหมือนกัน

ขณะที่ไฮโดนเจนกับภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเทคนิคทำได้ทั้งหมดแล้วสามารถแปลงสภาพ ขนส่ง และนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้แล้ว แต่เรื่องสำคัญคือเรื่องต้นทุน ถ้ามีการสนับสนุนให้ต้นทุนราคาถูกได้ ก็จะสามารถนำไฮโดนเจนเข้ามาแทนที่เรื่องแบตเตอรี่ได้ ซึ่งเป็นอนาคตที่น่าสนใจ โดยในกลุ่ม ปตท. เองก็มี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้าไปร่วมลงทุนกับประเทศโอมาน เพื่อพัฒนากรีนไฮโดนเจน