ค่าไฟฟ้าไทยจ่อปรับลง ปตท.สผ.ผลิตก๊าซได้เพิ่ม

01 ก.ค. 2566 | 07:04 น.

ปตท.สผ.ดันกำลังการผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณตามเป้า 400 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน หลังโหมลงทุนติดตั้งแท่นขุดเจาะและแท่นผลิต กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มั่นใจถึงสิ้นปี กำลังผลิตก๊าซพุ่ง 600 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ส่งก๊าซเป็นไปตามสัญญาในเม.ย. 2567 ช่วยลดการนำเข้า LNG ผลิตไฟฟ้าค่าไฟฟ้า

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ได้ทำการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายหลังจากที่ได้เร่งดำเนินงานอย่างทุ่มเทและจริงจัง ตั้งแต่วันที่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (วันที่ 24 เมษายน 2565) จนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ จำนวน 8 แท่น และการจัดหาแท่นขุดเจาะจำนวน 4 ตัว เพื่อใช้สนับสนุนการเจาะหลุมบนแท่นหลุมผลิตใหม่ และแท่นหลุมผลิตเดิม รวมทั้งมีแผนจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ตัว เพื่อนำมาใช้เร่งการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม ซึ่งเดือนพฤษภาคม 2566 ได้มีการเจาะหลุมแล้วเสร็จจำนวน 96 หลุม จากจำนวนหลุมที่ต้องเจาะตามแผนงานในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 273 หลุม

ค่าไฟฟ้าไทยจ่อปรับลง ปตท.สผ.ผลิตก๊าซได้เพิ่ม

ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ที่อัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ตามแผน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

อีกทั้ง บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ ยังได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลงสำรวจฯ G1/61 ที่อัตรา 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 และที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยจะมีการดำเนินงานสำคัญเพิ่มเติมภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติตามเป้าหมาย อาทิ การติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติม และการบริหารจัดการการใช้งานแท่นขุดเจาะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ติดตาม กำกับดูแล พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อให้การก่อสร้างและติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การเจาะหลุมผลิต และงานอื่น ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นตามกำหนดการ และเป้าหมาย เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจฯ G1/61 กลับมามีอัตราการผลิตสูงสุดในอ่าวไทยอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศ จะส่งผลให้ช่วยลดต้นทุนและปริมาณการนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้า ช่วยลดความผันผวนของภาระค่าไฟฟ้า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจ และสังคม ให้แก่ประเทศต่อไป”

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปริมาณการผลิตในแปลง G1/61 (เอราวัณ) ในปี 2566 นี้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทได้ติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มอีก 4 แท่น หลังจากที่ปี 2565 ได้ติดตั้งไปแล้ว 8 แท่น ส่งผลให้คาดว่าปริมาณการผลิตในแปลง G1/61 จะเพิ่มขึ้นจาก 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็น 400-450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้ และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปี 2566 หลังจากนั้นจะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญา PSC ในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งปตท.สผ.เตรียมงบลงทุนสำหรับแปลง G1/61 และ G2/61 (บงกช)  ไว้ที่ประมาณ 700-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี