สหรัฐ-รัสเซีย ซัดกันต่อในตลาดน้ำมันโลก

03 เม.ย. 2566 | 18:27 น.

รัสเซียยันไม่ต้องแคร์สหรัฐ หนุน "โอเปกพลัส" หั่นกำลังการผลิต ด้านทำเนียบขาวโวย โอเปกพลัสหั่นกำลังการผลิตน้ำมันดิบอีกกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน ดันราคาน้ำมันพุ่ง ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อโลกขยับสูงตาม

 

ทำเนียบขาว แสดงความไม่พอใจวานนี้ (3 เม.ย.) ต่อการที่ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประกาศ ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน โดยสมัครใจเพิ่มเติม รวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2566

โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาวกล่าวว่า การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมในเวลานี้เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนในตลาด

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ มีความกังวลว่า การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปกพลัสจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดพุ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐดีดตัวขึ้นตาม และจะกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่ปธน.ไบเดน กำลังจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ในปีหน้า (2567)

ทำเนียบขาวโวย “โอเปกพลัส” หั่นกำลังการผลิตน้ำมันดิบอีกกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน

ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ (2 เม.ย.) ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นชาติสมาชิกรายสำคัญของโอเปก ได้ประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจเพิ่มอีก 500,000 บาร์เรล/วัน โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนพ.ค. นี้ นอกจากนี้ ยังมีชาติอื่นๆร่วมลดการผลิต ได้แก่

  • รัสเซียจะลดกำลังการผลิต 500,000 บาร์เรล/วัน 
  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศลด 144,000 บาร์เรล/วัน
  • อิรักลด 211,000 บาร์เรล/วัน
  • คูเวตลด 128,000 บาร์เรล/วัน
  • คาซัคสถานลด 78,000 บาร์เรล/วัน
  • แอลจีเรียลด 48,000 บาร์เรล/วัน
  • โอมานลด 40,000 บาร์เรล/วัน
  • และกาบองลด 8,000 บาร์เรล/วัน

ต่อมาเมื่อวันจันทร์ (3 เม.ย.) คณะกรรมการร่วมด้านการตรวจสอบระดับรัฐมนตรี (JMMC) ของกลุ่มโอเปกพลัส ได้เสร็จสิ้นการประชุมทางไกลและมีมติรับทราบการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจรวม 1.66 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566 ของสมาชิกหลายชาตินำโดยซาอุดิอาระเบีย

โดย JMMC ระบุว่า การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจดังกล่าวถือเป็นมาตรการป้องกันล่วงหน้าเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน

นอกจากนี้ JMMC ได้พิจารณาข้อมูลการผลิตน้ำมันดิบในเดือนม.ค.และก.พ. ที่ผ่านมา รวมทั้งการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของสมาชิกโอเปกพลัส โดย JMMC ยังคงยืนยันที่จะปฏิบัติตามมติของโอเปกพลัสในเดือนต.ค.2565 ในการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2566 พร้อมกันนั้น ยังได้กำหนดจัดการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 มิ.ย.2566

รัสเซียยันไม่ต้องแคร์สหรัฐ หนุนโอเปกพลัสหั่นกำลังการผลิต

นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ได้ออกมากล่าวสนับสนุนการตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งเป็นการลดเพิ่มเติมจากเดิมโดยสมัครใจ คิดเป็นปริมาณ(ที่ลดเพิ่ม) รวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566 แม้สิ่งนี้จะสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐก็ตาม

โดยรัสเซียอ้างว่า "สิ่งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อโลกพลังงานในแง่ของการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในตลาดโลกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนการที่บางประเทศพอใจ และบางประเทศไม่พอใจ ก็เป็นเรื่องของพวกเขา" นายเพสคอฟกล่าวในที่สุด

ราคาน้ำมันขยับทะลุ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ขานรับข่าว

ในวันเดียวกันนั้น (จันทร์ที่ 3 เม.ย.) สัญญาน้ำมันดิบ WTI พุ่งกว่า 6% ทะลุระดับ 80 ดอลลาร์ ขานรับข่าวการปรับลดกำลังผลิตเพิ่มเติมของชาติสมาชิกโอเปกพลัส ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจ รวม 1.16 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566

ณ เวลา 18.23 น.ตามเวลาไทยของวันที่ 3 เม.ย. สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ปิดบวก 4.60 ดอลลาร์ หรือ 6.08% สู่ระดับ 80.27 ดอลลาร์/บาร์เรล

นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานว่า ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก อาจปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบสำหรับส่งออกไปยังตลาดเอเชียในเดือนพ.ค. หลังจากที่กลุ่มโอเปกพลัส ประกาศลดการผลิตน้ำมันเพิ่มอีก 1.16 ล้านบาร์เรล/วัน

ผลการสำรวจของรอยเตอร์ต่อโรงกลั่นน้ำมัน 5 แห่งในเอเชียระบุว่า ซาอุดีอาระเบียอาจขึ้นราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) สำหรับราคาน้ำมันดิบประเภท Arab Light ประมาณ 20 เซนต์/บาร์เรล สู่ระดับ 2.70 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มราคาน้ำมันเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ผลการสำรวจยังระบุด้วยว่า ซาอุดีอาระเบียอาจขึ้นราคาน้ำมันดิบประเภท Arab Medium ประมาณ 20 เซนต์/บาร์เรล และปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบ Arab Heavy ประมาณ 80 เซนต์/บาร์เรล