บอร์ด ปตท. อนุมัติ 6 พันล้านบาทช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง

27 ธ.ค. 2565 | 10:54 น.

บอร์ด ปตท. อนุมัติ 6 พันล้านบาทช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ลดต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า 

 

รวมทั้งพยายามจัดหา LNG ที่มีราคาเหมาะสม มุ่งลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท พร้อมมั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 

 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำได้เนื่องจากคาดการณ์ว่าความต้องการปิโตรเคมีช่วงต้นปี 2566 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติส่งผลให้สามารถจัดส่งก๊าซธรรมชาติในส่วนนี้เพิ่มเติมให้กับภาคไฟฟ้าได้  
 

อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่มกราคม – เมษายน 2566) และขอความร่วมมือ ปตท. สนับสนุนรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 

 

บอร์ด ปตท. อนุมัติ 6 พันล้านบาทช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง

นายอรรถพล กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมา ปตท. ได้บริหารจัดการด้านพลังงานเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมงบประมาณการช่วยเหลือตลอดโครงการกว่า 1,223 ล้านบาท ได้แก่ การขยายระยะเวลาตรึงราคาขายปลีก NGV สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566 

 

และการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) ให้แก่กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่เป็นผู้มีรายได้น้อยตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 

ก่อนหน้านี้ กพช.มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน โดยมุ่งเน้นในส่วนของการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 

 

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่ ม.ค. – เม.ย. 66) โดยหนึ่งในแนวทางดังกล่าวก็คือ

 

กพช.ได้ขอความร่วมมือจาก ปตท. ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค. – เม.ย. 66) มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยแบ่งการจัดสรร ดังนี้

 

ส่วนที่ 1 เป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซฯ ให้กับ กฟผ. เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป

 

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนลดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง