พพ.ดันแผนอนุรักษ์พลังงาน ลด CO2 106 ล้านตัน ช่วยชาติประหยัด 5 แสนล้าน

13 ธ.ค. 2565 | 06:24 น.

เปิดร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน สู่ Net Zero Emission ตั้งเป้าลดความเข้มการใช้พลังงาน 36% หรือ 35,497 ktoe ช่วยชาติประหยัดได้ 5.32 แสนล้านบาท ลดปล่อยคาร์บอนฯได้ 106 ล้านตัน ภายในปี 2580 ผ่านมาตรการทั้งบังคับ ส่งเสริมและสนับสนุน ใน 5 กลุ่มเป้าหมาย

ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2565-2580 หรือ EEP 2022 ถือเป็น 1 ใน 5 ของแผนพลังงานชาติฉบับใหม่ (National Energy Plan 2022 : NEP) ที่จะพัฒนายกระดับด้านพลังงานของประเทศรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอนาคต และมีบทบาททำให้ประเทศมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวสู่สังคมคาร์บอนตํ่า ที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608

 

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2565-2580 หรือ Energy Efficiency Plan : EEP 2022 ที่จะนำมาประกอบเป็นแผนพลังงานชาติ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2566 แล้วนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อประกาศใช้ประมาณกลางปี 2566

ทั้งนี้ ร่างแผนอนุรักษ์พลังงานดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน EEP 2018 โดยปรับเป้าหมายลดความเข้มข้นการใช้พลังงาน (Energy Intensity : EI) ลงจากจากเดิม 30% หรือเป้าหมายผลประหยัดในปี พ.ศ.2580 เท่ากับ 49,064 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ (ktoe) เพิ่มเป็น 36% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2553 หรือเป้าหมายผลประหยัดในปี 2580 เท่ากับ 35,497 ktoe แยกเป็นด้านไฟฟ้า 8,761 ktoe และด้านความร้อน 26,736 ktoe จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 106 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2) เกิดผลประหยัดพลังงานที่ประหยัดได้ คิดเป็นมูลค่าราว 532,455 ล้านบาท (คำนวณจากราคานํ้ามันดิบ 1 ktoe เท่ากับ 15 ล้านบาท)

 

รวมทั้งมีเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงาน (EI) ลง 40% ภายในปี พ.ศ. 2593 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2553 หรือเป้าหมายผลประหยัดในปี 2593 เท่ากับ 64,340 ktoe แบ่งเป็นในส่วนด้านไฟฟ้า 15,879 ktoe และด้านความร้อน 48,461 ktoe ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 193 MtCO2

 

พพ.ดันแผนอนุรักษ์พลังงาน ลด CO2 106 ล้านตัน ช่วยชาติประหยัด 5 แสนล้าน

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้น ได้กำหนดเป็น 3 กลยุทธ์ ใน 14 มาตรการ ครอบคลุม 5 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย เกษตร และขนส่ง โดยจะมีทั้งมาตรการบังคับ เช่น มาตรฐานการจัดการพลังงานในโรงงาน/อาคารควบคุม บังคับให้อาคารที่ก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงขนาด ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องออกแบบให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ในด้านระบบเปลือกอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบอุปกรณ์ผลิตนํ้าร้อน ระบบพลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานรวม รวมถึงบังคับเกณฑ์มาตรฐานด้านพลังงาน (Energy Code ) ในโรงงาน อาคาร บ้านอยู่อาศัย เกษตร และมาตรการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางถนน เป็นต้น

 

การนำมาตรการส่งเสริมมาใช้ เช่น ออกเกณฑ์มาตรฐานและการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพอุปกรณ์เพิ่มขึ้นใน 4 กลุ่ม กว่า 19 ผลิตภัณฑ์เช่น ผลิตภัณฑ์ภาคก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน และเครื่องยนต์ทางการเกษตร การสนับสนุนทางด้านการเงิน (Financial Incentive) การส่งเสริมนวัตกรรม (IOT, Smart Technology, Big Data, AI) การอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง (EV) , ระบบขนส่งทาง บก นํ้า อากาศ ราง, การอนุรักษ์พลังงานภาคเกษตรกรรม (Smart Farming, Switch to Machinery) การอนุรักษ์พลังงานภาคบ้านอยู่อาศัย (บ้านอนุรักษ์พลังงาน , Smart Home) การเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในระบบพลังงานทดแทน (หม้อไอนํ้าชีวมวล,เตาเผาชีวมวล), เครื่องกำเนิดไฟฟ้า(Solar Heat ) การใช้เกณฑ์มาตรฐานอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน (EERS) เช่น ช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ผู้ประกอบการ การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและลดผลกระทบ Fuel switching

 

อีกทั้ง มีภาคสนับสนุน เช่น การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอนุรักษ์พลังงาน (R&D) การพัฒนาบุคลากรด้านอนุรักษ์พลังงาน (HRD) และการประชาสัมพันธ์สร้างปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์พลังงาน

 

ทั้งนี้ ในร่างแผนการอนุรักษ์พลังงานดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญกับการ การอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง 4 หมวด ได้แก่ ทางบก ทางนํ้า ทางอากาศ และทางราง มีเป้าหมายจะลดการใช้พลังงาน 17,039 ktoe ในปี 2580 โดนทางถนนนั้น จะส่งเสริมยานยนต์ประหยัดพลังงานโดยกลไกภาษีสรรพสามิต (Eco-Sticker) การติดฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานอุปกรณ์ยานยนต์ ECO Driving / EV และสนับสนุนด้านการเงิน ส่วนทางนํ้า จะส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ภายในท่าเรือ / เรือขนส่ง การบริหารจัดการของท่าเรือ การเชื่อมโยงการขนส่งทางนํ้า และพัฒนาเรือไฟฟ้าต้นแบบสำหรับขนส่งผู้โดยสาร

 

ขณะที่ทางอากาศ จะมีมาตรการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในท่าอากาศยาน การบริหารจัดการการบิน และทางราง ส่งเสริมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางคู่ เป็นต้น

 

สำหรับสถานการณ์การอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทยในปี 2564 ที่ผ่านมาสามารถลดความเข้มข้นการใช้พลังงาน (EI) ได้ 18.97% จากเป้าหมาย 30% ในปี พ.ศ. 2580 (ตามแผน EEP 2018) โดยมีการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 71,998 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ (ktoe) สูงกว่าเป้าหมายในแผน EEP 2018 ที่ต้องการให้เกิดผลประหยัดเท่ากับ 49,064 ktoe