โรดแมปโรงไฟฟ้าสีเขียวทีพีไอโพลีนเพาเวอร์"เลิกใข้ถ่านหิน"2026

30 พ.ย. 2565 | 12:03 น.

"ภัคพล"เปิดแผนที่ทางเดินสู่โรงไฟฟ้าสีเขียว ประกาศชัดอีก 4 ปี การใช้ถ่านหินเป็นศูนย์ สุดปลื้มช่วยลดปริมาณขยะล้นบ่อ หวังต่อไปขยะหมดนำบ่อขยะไปพัฒนาสร้างประโยชน์อื่น รวมทั้งใช้ความเชี่ยวชาญช่วยเผาขยะติดเชื้อช่วงโควิดระบาดไปกว่า 1.7 หมื่นตัน

   นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) บรรยายพิเศษ "องค์กรวิถีนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน" ในการสัมมนา Sustainability Forum 2023 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ไม่เพียงธุรกิจของทีพีไอ โพลีน เท่านั้น แต่ TPI ทั้งเครือมุ่งมั่นในสิ่งที่ดีที่สุด คือ  T-Technology(เทคโนโลยี) P-Product หรือผลิตภัณฑ์ และ I-Innovation (นวัตกรรม)

 

เพื่อมาสร้างองค์กรให้เติบโต เป็นไปตามเป้าหมายความยั่งยืนต่าง  ๆ ไม่ว่าจะเป็น ESG (เป้าหมายสิ่งแวดล้อมและสังคม) CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคม) หรือ SDG (เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน)

ทั้งนี้ ทีพีไอ โพลีน มีธุรกิจหลักคือโรงไฟฟ้าขยะเป็นธุรกิจหลัก และสถานีบริการน้ำมันเป็นธุรกิจเสริม ในส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้า  มีวิสัยทัศน์สู่การเป็นผู้นำธุรกิจขยะสู่พลังงาน มุ่งสู่การเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว คือ ลดและในท้ายที่สุดเลิกการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด

 

โดยที่ผ่านมาธุรกิจโรงไฟฟ้าของทีพีไอ โพลีน มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 440 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกระแสไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน 220 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากขยะ 180 เมกะวัตต์ ได้มีการลงทุนปรับระบบเชื้อเพลิงโรงงานไฟฟ้าเป็นระยะ เพื่อไปสู่เป้าหมายลดสัดส่วนการใช้ถ่านหินลง โดยเฟสที่ 1 และ 2 ที่เพิ่งเสร็จ จะลดการใช้ถ่านหินลง 30 % และในกลางปี 2566 เฟส 3 จะแล้วเสร็จ ลดการใช้ถ่านหินลงไปได้อีก 15 % รวมเป็น 45 % 

55 % ของการใช้ถ่านหินที่เหลืออยู่ จะมีการลงทุนในเฟส 4-6 ซึ่งตามเป้าหมายการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มเป็น 524 เมกะวัตต์ โดยทั้งหมดจะเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะหรือพลังงานทดแทนทั้งหมด โดยการใช้ถ่านหินจะเป็นศูนย์ ในปี 2569 (2026)  สู่เป้าหมายเน็ตซีโร ซึ่งถือว่าเกินกว่าเน็ตซีโรอีกด้วย

 

นายภัคพล กล่าวอีกว่า นอกจากการมุ่งมั่นสู่การเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียวที่ลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศแล้ว โรงไฟฟ้าขยะยังช่วยลดปัญหาภูเขาขยะที่กองสะสมตามบ่อขยะต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น บ่อขยะที่จังหวัดนครราชสีมา จากเดิมที่กองสุมสูงหลายเมตรเมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อมีโรงไฟฟ้านำขยะมาเป็นเชื้อเพลิง เวลานี้กองขยะลดความสูงลงไปมาก และเชื่อว่าจะหมดไปในอนาคต

 

"นอกจากแก้ปัญหาขยะกองล้นบ่อแล้ว เมื่อขยะถูกนำมาเผาในโรงไฟฟ้าขยะจนหมดแล้ว ท้องถิ่นสามารถนำที่บ่อขยะเดิม มาพัฒนาเป็นที่สาธารณประโยชน์ หรือใช้งานเพื่อบริการชุมชนในอนาคตเพิ่มเติมได้อีกด้วย จึงเป็นอีกประโยชน์ของโรงไฟฟ้าขยะ"

 

รวมทั้งเรื่องที่อาจไม่มีใครทราบ จากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องระดมยา เวชภัณฑ์ ตลอดจนอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้เพื่อป้องกันเชื้อ ทำให้เกิดขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โรงไฟฟ้าขยะของบริษัทฯ เป็นแห่งแรก  ที่กรมโรงงานอนุญาตให้ใช้เป็นเตาเผาขยะติดเชื้อได้ จากการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านโรงไฟฟ้าขยะของเราที่มีอยู่แต่เดิม เพื่อมาช่วยลดปัญหาขยะติดเชื้อในช่วงการระบาดเชื้อไวรัส ซึ่งได้ช่วยเผาขยะติดเชื้อไปได้ถึง 17,000 ตัน 

 

"ก็เป็นเรื่องที่นึกไม่ถึงเหมือนกันว่า ช่วงโควิดระบาด จะให้ไปช่วยในเรื่องยา เรื่องเครื่องมือแพทย์ เราคงทำไม่ได้ แต่ความเชี่ยวชาญของเราในเรื่องเตาเผาขยะ เรื่องโรงไฟฟ้าขยะ ก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้ จากสิ่งที่เราเชี่ยวขาญ" นายภัคพลกล่าวย้ำ 

 

ทั้งนี้ นายภัคพลกล่าวว่า ทีพีไอ โพลีน กวาดรางวัลต่อเนื่อง ทั้งในด้านมาตรฐานโรงงาน ความรับผิดชอบต่อสังคม จนไปคว้ารางวัลระดับอาเซียนในกลุ่มกิจการพลังงาน และรางวัลจาดนิตยสารนานาชาติ ให้เป็น The Best Product ด้าน Sustainable Development