ปตท.กับบทบาทการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบโควิด -19

06 ต.ค. 2565 | 02:51 น.

จากภาวะวิกฤตโควิด -19 ที่ได้เข้าสู่โหมดการผ่อนคลายเป็นที่เรียบร้อย ตลอดระยะเวลาที่เกิดการแพร่ระบาด และส่งผลกระทบมากมายตั้งแต่เริ่มต้น หน่วยงานระดับประเทศอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความช่วยเหลือเต็มที่

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องการดูแลสังคม โดยเฉพาะเรื่องของโควิด ปตท. ด้วยเป้าหมายการลดผลกระทบ ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำมาตลอด ด้วยงบประมาณจำนวนกว่า 1,200 ล้านบาท ภายใต้ความเชื่อที่ว่า เราทุกคนมี “ลมหายใจเดียวกัน” 

 

ปตท.ได้สรุปการดำเนินงานด้านความช่วยเหลือ เริ่มจากวิกฤติในช่วงต้นปี มีนาคม 2563 กลุ่ม ปตท. เข้ามาช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 ตั้งแต่ ช่วงนั้นประเทศไทยขาดแคลนอุปกรณ์ อาทิ แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย โดย ปตท. จัดหาและมอบสนับสนุนโรงพยาบาลแอลกอฮอล์รวมกว่า 1.13 ล้านลิตร หน้ากากอนามัย 250,000 ชิ้น  สนับสนุนงบประมาณและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ป้องกันจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ เสื้อกาวน์ทางการแพทย์ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ มอบให้กับโรงพยาบาลและ หน่วยงานราชการที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยรวมความช่วยเหลือไปทั้งหมด 79 โรงพยาบาล 34 จังหวัด

 

เมื่อต้นปี 2564 จากการแพร่ระบาดระลอก 3 ที่ ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มสูงขึ้นมาก กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้งโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” กลุ่ม ปตท. ขึ้นเพื่อส่งมอบเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยวิกฤต (ICU Ventilator) และเครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง (High-Flow Nasal Oxygen) รวมจำนวนกว่า 400 เครื่อง พร้อมทั้งมอบงบประมาณจัดซื้อออกซิเจนเหลวแก่โรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤตและมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อใช้ในการรักษาอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด รวมกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ 

 

เปิดโรงพยาบาลสนามครบวงจร
นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านต่างๆ อาทิ การสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง พร้อมจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จำนวนกว่า 825,000 ชิ้น ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) จำนวน 50,000 ชุด และยังสนับสนุนถุงยังชีพแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นกว่า 16,000 ชุด

ปตท.กับบทบาทการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบโควิด -19
 


การจัดหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกซึ่งได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครใน 4 พื้นที่ใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่มีความเปราะบางและเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยในชุมชน ผู้พิการ อีกทั้งกลุ่มแรงงานในพื้นที่ที่อาจจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยากหรือมีความลำบากในการลงทะเบียน และมีจิตอาสาจากพนักงานกลุ่ม ปตท. เข้าช่วยอำนวยความสะดวก โดยมีผู้รับการฉีดวัคซีนรวมกว่า 61,182 คน 

 

ในช่วงที่ยาขาดแคลน และหายาก ปตท.ร่วมมือกับพันธมิตรจัดหาและนำเข้ายาเรมดิซีเวียร์ ยาต้านโควิด จำนวน 2,000 ขวด มอบให้แก่ภาครัฐ เพื่อใช้ช่วยผู้ป่วย โควิด โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยค่อนข้างวิกฤต และนำเข้ามาบริจาคเพิ่มเติมให้กับสภากาชาดไทยอีก 10,000 ขวด รวมทั้งจัดหาและนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์อีก 1.2 ล้านเม็ด โดยเกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศ ผ่านบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (ปตท. ถือหุ้น 100%) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการด้านธุรกิจ Life Sciences ของกลุ่ม ปตท.

 

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า กลุ่ม ปตท. มีความตั้งใจให้มีการดำเนินการที่มุ่งเน้น “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” โดยจะช่วยบรรเทาความรุนแรงในช่วงสภาวะวิกฤตโควิด-19 จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ โดยได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพันธมิตรทางการแพทย์ ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ และโรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้ง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” ภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท.” โดยหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) รองรับผู้ป่วยระดับสีเขียว 1,000 เตียง สีเหลือง 300 เตียง สีแดง (ICU) 120 เตียง  

 

เปิดหน่วยคัดกรอง"ลมหายใจเดียวกัน"

พร้อมกันนี้  ยังได้เปิดหน่วยตรวจคัดกรองโควิด-19 โครงการลมหายใจเดียวกัน ที่อาคาร EnTer ถนนวิภาวดีรังสิต หลักสี่ กรุงเทพฯ ตั้งแต่สิงหาคม 2564 จนถึง 30 มิถุนายน 2565 โดยเริ่มดำเนินการ ตรวจคัดกรองแก่ประชาชนไปกว่า 138,284 คน  เมื่อพบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากการตรวจ ATK จะทำการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR และนำเข้าสู่กระบวนการรักษาตามระดับอาการ รวมทั้งเปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 สำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการตรวจคัดกรองที่ EnTer และยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดใดมาก่อนด้วย โดยโรงพยาบาลสนามครบวงจรนี้ได้ให้การรักษาผู้ป่วยรวม 14,228 คน ในระยะเวลา 9 เดือน (สิงหาคม 2564 - มิถุนายน 2565)   

 

นายอรรถพล กล่าวว่า ในช่วงตุลาคม 2564 เมื่อสถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้น อัตราการติดเชื้อมีระดับคงที่ และจำนวนผู้ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นการดูแลรักษาที่บ้าน กลุ่ม ปตท. ได้เปิดโครงการ End-to-End Mobile @1745 เพื่อรองรับการเข้าถึงผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีการตรวจ ATK ด้วยตัวเองมากขึ้น มีการระดมพนักงานจิตอาสารับสายด่วนจากผู้ที่ตรวจหาเชื้อด้วย ATK มีผลเป็นบวก เพื่อให้คำแนะนำและจัดหารถพยาบาลให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำร่องใน กทม. และปริมณฑล

 

โครงการลมหายใจเดียวกันนี้ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 และปิดโครงการลงเมื่อ 30 มิถุนายน 2565  รวม 1,004 วัน นับเป็นการดูแลประชาชนอย่างครบวงจร โดยได้ดำเนินงานตามเป้าหมายที่เราวางไว้ว่าจะยืนหยัดดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไปจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลาย  นับเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อย่างต่อเนื่อง โดยเกิดจากความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เป็นพันธมิตรทางการแพทย์ นับเป็นโครงการที่เกิดได้จากความร่วมมือของภาคเอกชนที่จับมือกับภาครัฐแบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศ

 

จาก “ลมหายใจเดียวกัน” สู่ “ลมหายใจเพื่อน้อง”

ผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีความเสี่ยงออกจากระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2565 ปตท. ได้ริเริ่มโครงการ “ลมหายใจเพื่อน้อง” จัดกิจกรรม PTT Virtual Run ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมนการเดิน-วิ่ง ระดมทุนการศึกษาเพื่อเยาวชน โดยสร้างสถิติใหม่ในการสะสมระยะทาง 600,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 6 วัน ซึ่ง ปตท. ได้บริจาคเงินจำนวน 151 ล้านบาท เพื่อช่วยเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 60,000 คน ได้กลับเข้าเรียนอีกครั้งในภาคเรียนปีการศึกษา 2565 
 

จากความสำเร็จอย่างรวดเร็วของโครงการเฟสแรก ปตท. ได้ต่อยอดกิจกรรมในเฟสที่สอง ให้ประชาชนเข้าร่วมภารกิจ “ก้าวต่อกับก๊อดจิ” เดิน-วิ่งสะสมระยะทางรวม 20 ล้านก้าวก๊อดจิ เพื่อจัดตั้ง กองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษาร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 20 ล้านบาท สำหรับดูแลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หรือเหตุปัจจัยไม่คาดคิด อาทิ อุบัติเหตุ อาชญากรรมต่าง ๆ ทั้งต่อครอบครัว และตัวเยาวชน ที่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยสร้างการมีส่วนร่วมมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง รวมกว่า 93,061 คน รวมระยะทางสะสมกว่า 7,425,061 กิโลเมตร