70 องค์กรร่วม PackBack ยึดหลัก EPR จัดการขยะบรรจุภัณฑ์สร้างศก.ยั่งยืน

29 ก.ย. 2565 | 14:27 น.

70 องค์กรร่วมเครือข่าย PackBack ยึดหลัก EPR จัดการขยะบรรจุภัณฑ์สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน สอดรับนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทส. กรมควบคุมมลพิษ  ร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ TIPMSE (ทิป-เอ็ม-เซ่) ขับเคลื่อนโครงการ “PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยังยืน” 

 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้นำหลัก EPR  (Extended Producer Responsibility) หรือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตสู่การขยายเครือข่ายร่วมรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการขยะจากบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่

 

เพื่อตอบสนองเป้าหมายในการป้องกันผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และสอดรับแนวทางการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืนได้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ TIPMSE ร่วมมือกับ 50 องค์กร ภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง 

 

นับเป็นการริเริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลัก EPR  เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือ  งานครั้งนี้จึงเป็นการตอกย้ำความร่วมมือภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งผู้ผลิต เอกชน  ภาครัฐ ภาคการศึกษา องค์กรอิสระกว่า 70 องค์กร และยังมีองค์กรอื่นๆที่พร้อมเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง

 

70 องค์กรร่วม PackBack ยึดหลัก EPR จัดการขยะบรรจุภัณฑ์สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานส.อ.ท. ในฐานะประธาน TIPMSE กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งดังกล่าวนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวจากทุกภาคส่วนที่ตระหนักถึงความสำคัญและความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการนำระบบ EPR มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วน 

ส่งเสริมให้เกิดการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สอดรับนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามเป้าหมายที่รัฐวางไว้

 

สำหรับความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในโครงการPackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ได้ปฏิบัติการภายใต้คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 

 

  • การศึกษากลไกการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR 
  • การดำเนินการสร้างต้นแบบและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 
  • การสร้างการรับรู้ในการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้องและความเข้าใจต่อระบบ EPR 
  • การดำเนินขยายความร่วมมือไปยังภาคผู้ผลิตให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อสร้างกลไกหรือระบบนิเวศ  (Ecosystems) ที่เหมาะสมและสอดรับกับบริบทของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพในการนำขยะจากบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ผลิตและทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภายใต้แพลตฟอร์มในโครงการ PackBack ซึ่งสามารถนำไปขยายผลให้เกิดการสร้างระบบเครือข่ายที่สมบูรณ์ในประเทศไทยต่อการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 

 

ด้วยหลักการ EPR ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมและรับมือกับกฎเกณฑ์และกติกา การดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต  จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างแรงกระตุ้นจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างระบบ Ecosystems ตั้งแต่การเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วสู่การเป็นวัตถุดิบที่สร้างมูลค่า