วิกฤต "พะยูน" ลดลงฮวบฮาบ เสี่ยงหมดจากประเทศ

09 มี.ค. 2567 | 23:24 น.

วิกฤต "พะยูน" ลดลงฮวบฮาบ เสี่ยงหมดจากประเทศ ผลสำรวจล่าสุด ไม่พบพะยูนแม่ลูกเลย เปิดสาเหตุพะยูนหายจากน่านน้ำไทย ต้องหนีตายเพราะอาหารไม่พอ หญ้าทะเลเสื่อมโทรม

สถานการณ์ "พะยูน" ตายเพิ่มขึ้น และสำรวจพบน้อยลง ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ล่าสุด อ.ธรณ์ หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ถึงสถานการณ์ ของ"พะยูน" ในน่านน้ำไทยว่า จากการบินสำรวจสัตว์หายากของกรมทะเลพบว่า พะยูนในเขตเกาะลิบง เกาะมุกด์ มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจสัมพันธ์กับวิกฤตหญ้าทะเลที่มีปริมาณลดลง 

แต่มีข้อสังเกตว่า พะยูนบางส่วน อาจมีการอพยพเปลี่ยนแหล่งหากิน เนื่องจากหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนมีปริมาณลดลงอย่างมาก และพบว่ามีจำนวนพะยูนที่ตายมีน้อยกว่าจำนวนพะยูนที่หายไป เดิมเกาะลิบงและเกาะมุกด์ เป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดในไทย พะยูนจึงมารวมกันอยู่จุดนี้มากที่สุด เมื่อหญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง และเหลือน้อย พะยูนจึงอาจพยายามอยู่ต่อในจุดเดิม หรือย้ายไปหาแหล่งอาหารใหม่

พะยูน ตาย

สำหรับผลสำรวจพะยูนตรัง เบื้องต้นโดยกรมทะเล ปี 2567 พบพะยูนน้อยลงจากปีที่แล้วมาก และไม่พบแม่ลูกเลย ในขณะที่ผลสำรวจปี 2566 พบพะยูนมากกว่า 180 ตัว เป็นแม่ลูก 12 คู่ และไม่พบพะยูนอยู่รวมกันเป็นฝูงเลย ต่างกับปีก่อนหน้าซึ่งคาดว่าเพราะหญ้าทะเลที่เหลือน้อย จึงจ้องกระจายกันออกไปหาแหล่งอาหารเป็นตัวเดี่ยวๆ

วิกฤต \"พะยูน\" ลดลงฮวบฮาบ เสี่ยงหมดจากประเทศ

อ.ธรณ์ ชี้พิกัดหญ้าทะเลที่ยังพอมีอยู่ ล้วนต่อห่างออกไปจากจุดเดิม ประมาณ 15-30 กม. แต่ก็อยู่ในพิสัยที่พะยูนไปถึงได้ เช่นเกาะศรีบอยา-เกาะปู แต่ต้องติดตามว่าสภาพหญ้าที่ไม่สมบูรณ์ จะรองรับได้แค่ไหน

ส่วนแหล่งหญ้าที่มีรายงานเบื้องต้นว่ายังไม่มีปัญหาคืออ่าวน้ำเมา รวมถึงแหล่งหญ้าอื่นๆ ในกระบี่ตอนบน อ่าวพังงา ,ภูเก็ต อาจมีพะยูนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแหล่งหญ้าเล็กๆ กระจัดกระจาย ซึ่งเดิมทีมีพะยูนอยู่บ้างแล้ว หากมีพะยูนมาใหม่จึงจำเป็นต้องติดตามพฤติกรรมพะยูนเจ้าถิ่น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ ซึ่งมีการท่องเที่ยวที่หนาแน่น และการสัญจรทางน้ำมาก ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ

วิกฤต \"พะยูน\" ลดลงฮวบฮาบ เสี่ยงหมดจากประเทศ

ด้านเพจ ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND ได้โพสต์ ถึงการดำเนินการ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต่อการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของญาติทะเล ในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ได้ลงพื้นที่บริเวณที่พบการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567

โดยได้กำหนดมาตรการ เพื่อฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล ได้แก่ การกำหนดเขตใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล การควบคุมผู้ประกอบการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น และกำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่ง ป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลอย่างไม่ถูกวิธี 

ทั้งนี้ การแก้ปัญหา "พะยูน" ที่มีจำนวนลดลงอย่างมากนี้ อ.ธรณ์ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า ควรต้องมีโครงการขนาดใหญ่สำรวจต่อเนื่องทั้งพื้นที่ กระบี่ ,ตรัง ,สตูล หรือครอบคลุมทั้งอันดามัน ซึ่งอุปกรณ์บุคลากรของกรมทะเลมีพร้อมแล้ว รอเพียงงบปฏิบัติการ หากสามารถสำรวจครบถ้วนต่อเนื่องกันทั้ง 5 จังหวัด  ได้แก่ ตรัง ,กระบี่ ,สตูล ,พังงา และภูเก็ต จะเป็นการเปิดประตูไปสู่การช่วยที่แท้จริง