รู้จัก "กาตาร์"...กว่าจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022

22 พ.ย. 2565 | 06:51 น.

ย้อนไปในปี 2010 กาตาร์ ประเทศขนาดเล็กในตะวันออกกลางที่มีประชากรเพียงราว 2.9 ล้านคน ได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2022 หลังชนะการลงคะแนนเสียงของสมาชิกบริหาร 22 คนของฟีฟ่า

 

ชัยชนะของ กาตาร์ ครั้งนั้น นับเป็นการเอาชนะประเทศใหญ่ๆอย่าง สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ที่เข้าร่วมเสนอตัวชิงชัยขอเป็น เจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก 2022 เช่นกัน 

 

ประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกที่จัดโดย สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) ต้องบันทึกไว้ว่า “กาตาร์”ที่มีเมืองหลวงชื่อว่า “โดฮา” เป็นชาติอาหรับ หรือประเทศในตะวันออกกลางชาติแรก ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก

 

แน่นอนว่า แรก ๆ มีข้อครหา ว่ากาตาร์ยัดเงินใต้โต๊ะติดสินบนเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าถึง 3 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 128 ล้านบาท เพื่อให้สนับสนุนกาตาร์คว้าชัยชนะได้เป็นเจ้าภาพบอลโลก แต่หลังจากที่มีการสอบสวนเรื่องนี้นานถึง 2 ปี กาตาร์ก็หลุดพ้นมลทินจากข้อกล่าวหาดังกล่าว

กาตาร์มีประชากรราว 2.9 ล้านคน คาดว่าจะมีต่างชาติหลั่งไหลมาชมบอลโลกจำนวนล้านกว่าคน

การเตรียมความพร้อมที่ยากลำบาก 

เมื่อได้รับเสียงโหวตให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันบอลโลกรอบสุดท้ายของปี 2022 หรือที่เรียกว่า FIFA World Cup Qatar 2022 รัฐบาลกาตาร์มีเวลาหลายปีในการจัดเตรียมความพร้อม แต่ก็เรียกได้ว่านี่เป็นงานใหญ่ และต้องใช้งบมหาศาล เนื่องจากต้องมีการก่อสร้างสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับงานนี้อีกมากมาย ได้แก่

  • ต้องสร้างสนามกีฬาเพิ่ม 7 สนาม จากที่ต้องใช้ในการแข่งขันทั้งหมด 8 สนาม
  • ต้องสร้างโรงแรมใหม่ราว 100 แห่ง เพื่อรองรับแฟนบอลที่คาดว่าจะหลั่งไหลมาชมการแข่งขัน 1.5 ล้านคนหรือมากกว่านั้น
  • ต้องสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา 1 แห่งรอบสนามกีฬา “ลูเซล” ซึ่งเป็นสนามแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ

 

1 ใน 8 สนามกีฬาที่ใช้ในการแข่งขัน

สารพัดข้อครหาที่ต้องก้าวข้าม

ในช่วงระหว่างการเตรียมความพร้อมในทุกด้านนั้น นอกจากข่าวการเร่งสร้างสนามกีฬาที่จวนเจียนจะเสร็จไม่ทันแล้ว ยังมีข่าวเชิงลบออกมาอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องการกดขี่แรงงานต่างชาติและสวัสดิภาพแรงงานที่เสื่อมทราม

 

 ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้ใช้แรงงานจากหลายประเทศเช่น อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล และฟิลิปปินส์ ราว 30,000 คน หลั่งไหลมาขายแรงงานในกาตาร์ โดยพวกเขาทำงานก่อสร้างอาคารต่าง ๆ สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนี้  ไม่ว่าจะเป็นสนามฟุตบอลแห่งใหม่ โรงแรมใหม่ ถนน และการสร้างเมืองใหม่ การปรับปรุงเมือง ที่จะต้องใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ

 

เดอะ การ์เดี้ยน สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา (2021) ว่า มีแรงงานเสียชีวิตในกาตาร์แล้วถึง 6,500 คน นับตั้งแต่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งข้อมูลตัวเลขดังกล่าวได้มาจากสถานทูตต่าง ๆ ในกาตาร์

 

แต่เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลกาตาร์โต้ว่า ยอดรวมแรงงานที่เสียชีวิตดังกล่าว ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะอันที่จริง ยอดรวมนี้เป็นการนับรวมแรงงานต่างชาติทั้งหมดที่เสียชีวิตในกาตาร์มาเป็นเวลานานแล้ว และไม่ได้เป็นแรงงานที่ทำงานในโครงการฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

 

ถ้าเอาข้อมูลจากทางการกาตาร์ สถิติพบว่า ระหว่างปี 2014-2020 มีแรงงานที่ทำงานอยู่ตามจุดก่อสร้างสนามฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เสียชีวิต 37 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 3 คนที่เสียชีวิตเพราะสาเหตุที่ "เกี่ยวข้องกับการทำงาน"

 

อย่างไรก็ตาม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation หรือ ILO) ให้ความเห็นอีกมุมหนึ่งว่า ตัวเลขทางการของกาตาร์ ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะกาตาร์ไม่ได้นับการเสียชีวิตของแรงงาน จากอาการหัวใจวายและระบบหายใจล้มเหลวว่าเป็นสาเหตุที่ “เกี่ยวข้องกับการทำงาน” แม้ว่าการเสียชีวิตเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากการที่ต้องทำงานท่ามกลางอุณหภูมิสูง (ซึ่งในช่วงฤดูร้อน มิ.ย. ถึง ก.ค. อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หรือกว่านั้น)

 

ถึงตอนนี้ การแข่งขันได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ (20 พ.ย. ถึง 18 ธ.ค.2565) ถือว่า “กาตาร์” ก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ มาได้แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะหมดเกลี้ยงโดยสิ้นเชิง เพราะในฐานะเจ้าภาพ กาตาร์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะกฎระเบียบทางศาสนาและวัฒนธรรมที่เข้มงวด ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่เท่าเทียมกัน เช่น พฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในกาตาร์ (ผิดศีลธรรมตามกฎหมายชารีอะห์ของศาสนาอิสลาม) มีบทลงโทษทั้งการปรับและการจำคุกสูงสุด 7 ปี รวมทั้งการประหารชีวิตด้วยการปาหินใส่

 

ถึงแม้ผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในกาตาร์จะกล่าวว่า "ต้อนรับทุกคน" และยืนยันจะไม่มีใครถูกเลือกปฏิบัติ แต่นายนัสเซอร์ อัล คาเทอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กาตาร์ 2022 ก็ยืนยันเช่นกันว่า รัฐบาลกาตาร์จะไม่แก้กฎหมายเกี่ยวกับการรักเพศเดียวกัน และได้ขอร้อง ให้ผู้เดินทางเยือนกาตาร์ เคารพวัฒนธรรมของกาตาร์

 

สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานว่า เดิมที แฮร์รี เคน หัวหน้าทีมชาติอังกฤษและหัวหน้าทีมชาติอื่น ๆ อีก 9 ทีม จะสวมปลอกแขน "One Love" เพื่อประท้วงกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันของกาตาร์ แต่หลังจากที่ฟีฟ่าเตือนว่า จะมีการปรับ ทำให้ทีมชาติอังกฤษ ทีมชาติเวลส์ และทีมชาติในยุโรปอื่น ๆ ยกเลิกการสวมปลอกแขนนี้แล้ว