เปิดวิสัยทัศน์ “วรวุฒิ กุลแก้ว”กับภารกิจขับเคลื่อนมูลนิธิทันตนวัตกรรม

30 ส.ค. 2565 | 20:00 น.

เปิดวิสัยทัศน์ “วรวุฒิ กุลแก้ว”กับภารกิจขับเคลื่อนมูลนิธิทันตนวัตกรรม เร่งพัฒนาและวิจัยนวัตกรรมเพื่อคนไทยตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่9 ที่ต้องการให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนไทย

นายวรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น   ซึ่งมูลนิธิทันตนวัตกรรมเป็นมูลนิธีที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมจากฝีมือนักวิจัยไทย เพื่อแก้ปัญหาโรคทางด้านทันตกรรมแบบครบวงจร ทั้งการวิจัยและพัฒนาตามมาตรฐานสากล

นายวรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม

และสร้างโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ซึ่งมี3ภารกิจหลักๆไม่ว่าจะเป็นการดูแลด้านการออกให้บริการหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่แก่ประชาชน ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  ซึ่งมีหน่วยทันตกรรมพระราชทาน8 แห่ง เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  เป็นต้น  

 

 

 

 

เปิดวิสัยทัศน์ “วรวุฒิ กุลแก้ว”กับภารกิจขับเคลื่อนมูลนิธิทันตนวัตกรรม

นอกจากนี้เดินหน้าการวิจัยและพัฒนาผลิตนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาโรคทันตกรรม  7 โรค คือ ฟันผุ  รากฟันผุ  สูญเสียฟัน ปริทันต์  ฟันสึก ปากแห้งน้ำลายน้อย  มะเร็งช่องปาก  และโรค NCDs ( non-communicable diseases) หรือโรคทางระบบ คือโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง   และภารกิจสำคัญอีกอย่างที่มูลนิธิให้ความสำคัญคือการให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ หรือการสร้างเครือข่ายพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนในประเทศ

ในขณะเดียวกัน โจทย์ในการวิจัยและพัฒนาของมูลนิธิฯ คือ 1. ต้องเริ่มจากโจทย์หรือเป็นปัญหาสังคม 2. จะต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.คือต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ด้วย เพราะฉะนั้นนอกจากสามารถผลิตนวัตกรรมจากงานวิจัยในประเทศและบริการในประเทศได้แล้วยังต้องสามารถส่งออกต่างประเทศได้ด้วย

ปัจจุบันมูลนิธีฯมีโรงงานผลิตอาหารมีทั้งระบบการฆ่าเชื้อแบบ UHT และ ระบบการฆ่าเชื้อแบบ Retort ซึ่งได้รับมาตรฐานกระบวนการผลิตระบบการจัดการความปลอดภัยในอาหาร ตามมาตรฐาน FSSC 22000 มาตรฐาน GHPs แล้ว และกำลังดำเนินการสร้างโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ ให้เป็นไปตามาตรฐานสากลเช่นกันซึ่งมูลนิธิมีเว็บไซต์ที่สามารถให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางที่ www.dent-in-found.org

“หัวใจของการทำงาน คือการสร้างทีมนักวิจัยและทีมผลิต เพราะในเรื่องของบุคลากรนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทุนอานันทมหิดล สาขาทันตแพทย์ศาสตร์ปัจจุบันนี้มีผู้ได้รับทุนประมาณ 26 คน มูลนิธิฯ จึงมีนักวิจัยที่จะมาทำงานในการคิดค้นนวัตกรรมทางด้านทันตกรรมขึ้นมาได้เลย”